ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติ เผย ค่าบาทปลายปีแข็งค่าจากเงินประกันไหลเข้า เตือนปีหน้าเงินบาทผันผวนมากขึ้น อาจอ่อนค่าจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่ทำให้เงินไหล จับตาปัญหาสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯตึงตัว หลังธนาคารยุโรปถูกหั่นเครดิต ยอมรับแบงก์ชาติต้องอัดดอลลาร์ใส่ในระบบไปอีกสักระยะ
นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินของบริษัทประกันภัยต่างประเทศไหลเข้ามาชดเชยความเสียหายภาคธุรกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงประมาณ 3% ขณะที่มีค่าความผันผวนประมาณ 5% เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ค่าความผัวผวนของเงินบาทถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นเมื่อเทียบเงินหยวนของจีน
สำหรับกรณีที่สถาบันจัดอันดับเครดิตปรับลดเครดิตระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 7 แห่งของยุโรปลง จากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้ขณะนี้หลายประเทศกำลังเฝ้าติดตามดูสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯในระบบจะตึงตัวขึ้นหรือไม่ ขณะที่ตลาดเงินของไทย เท่าที่ได้ติดตามขณะนี้สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังไม่มีปัญหา แต่ ธปท.ก็ได้เข้าไปดูแลสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ ผ่านการซื้อขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้า (FX swap) มากขึ้น โดยคาดว่า ธปท.จะมีการปล่อยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบไปอีกสักระยะหนึ่ง
“ขณะนี้ ธปท.ต้องติดตามดูตลาด FX swap ว่า จะตึงตัวขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูช่วงนี้ยังนิ่งพอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯก็เริ่มตึงตัว พอสภาพคล่องตึงตัว อัตราดอกเบี้ยซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าก็ทรงตัว โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.7-2.8% แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตาสถานการณ์ในยุโรปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร” นายสิงห์ชัย กล่าว
นายสิงห์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯต่อเนื่อง เพื่อปิดฐานะเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่ช่วงปลายปี ผู้ส่งออกจะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้มาจากการค้าขายจากต่างประเทศมาขายเพื่อแลกเป็นเงินบาทค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้ กลับพบว่าผู้ส่งออกนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาขายเป็นเงินบาทไม่มากนัก
เชื่อว่า คงเป็นเพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยน้อยลง ประกอบกับไทยเองก็มีปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ไทยมีการส่งออกได้น้อยลง
ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะมีความผันผวนมากขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรป และปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่นิ่งตามข่าวร้ายและดีที่เข้ามากระทบตลาดในแต่ละช่วง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในระยะสั้นเงินทุนไหลออกไปบ้างตามภาวะขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงแล้วหันไปถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Risk off) มากขึ้น แต่ระยะยาวยังเชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าเอเชียอยู่ต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่
“ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลในปีหน้า ก็ยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียู ที่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ซึ่งในระยะต่อไปจากนี้หากสมมติ ว่า เศรษฐกิจอียู อยู่ในลักษณะเพียงซึมๆ แต่เศรษฐกิจยังสามารถไปได้เรื่อยๆ แบบนี้ หรือไม่มีเหตุการณ์ หรือข่าวร้ายรุนแรงออกมาสร้างความกังวลต่อตลาดเงิน แนวโน้มเงินบาทก็ยังแข็งค่า ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจอียูมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้ค่าสกุลเงินทั่วโลก รวมทั้งเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็จะปรับตัวอ่อนค่าลงทันที เพราะนักลงทุนจะไปถือดอลลาร์ลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป”
นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินของบริษัทประกันภัยต่างประเทศไหลเข้ามาชดเชยความเสียหายภาคธุรกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงประมาณ 3% ขณะที่มีค่าความผันผวนประมาณ 5% เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ค่าความผัวผวนของเงินบาทถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นเมื่อเทียบเงินหยวนของจีน
สำหรับกรณีที่สถาบันจัดอันดับเครดิตปรับลดเครดิตระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 7 แห่งของยุโรปลง จากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้ขณะนี้หลายประเทศกำลังเฝ้าติดตามดูสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯในระบบจะตึงตัวขึ้นหรือไม่ ขณะที่ตลาดเงินของไทย เท่าที่ได้ติดตามขณะนี้สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังไม่มีปัญหา แต่ ธปท.ก็ได้เข้าไปดูแลสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ ผ่านการซื้อขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้า (FX swap) มากขึ้น โดยคาดว่า ธปท.จะมีการปล่อยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบไปอีกสักระยะหนึ่ง
“ขณะนี้ ธปท.ต้องติดตามดูตลาด FX swap ว่า จะตึงตัวขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูช่วงนี้ยังนิ่งพอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯก็เริ่มตึงตัว พอสภาพคล่องตึงตัว อัตราดอกเบี้ยซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าก็ทรงตัว โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.7-2.8% แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตาสถานการณ์ในยุโรปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร” นายสิงห์ชัย กล่าว
นายสิงห์ชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯต่อเนื่อง เพื่อปิดฐานะเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่ช่วงปลายปี ผู้ส่งออกจะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้มาจากการค้าขายจากต่างประเทศมาขายเพื่อแลกเป็นเงินบาทค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้ กลับพบว่าผู้ส่งออกนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาขายเป็นเงินบาทไม่มากนัก
เชื่อว่า คงเป็นเพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยน้อยลง ประกอบกับไทยเองก็มีปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ไทยมีการส่งออกได้น้อยลง
ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะมีความผันผวนมากขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรป และปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่นิ่งตามข่าวร้ายและดีที่เข้ามากระทบตลาดในแต่ละช่วง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในระยะสั้นเงินทุนไหลออกไปบ้างตามภาวะขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงแล้วหันไปถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Risk off) มากขึ้น แต่ระยะยาวยังเชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าเอเชียอยู่ต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่
“ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลในปีหน้า ก็ยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียู ที่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ซึ่งในระยะต่อไปจากนี้หากสมมติ ว่า เศรษฐกิจอียู อยู่ในลักษณะเพียงซึมๆ แต่เศรษฐกิจยังสามารถไปได้เรื่อยๆ แบบนี้ หรือไม่มีเหตุการณ์ หรือข่าวร้ายรุนแรงออกมาสร้างความกังวลต่อตลาดเงิน แนวโน้มเงินบาทก็ยังแข็งค่า ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจอียูมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้ค่าสกุลเงินทั่วโลก รวมทั้งเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็จะปรับตัวอ่อนค่าลงทันที เพราะนักลงทุนจะไปถือดอลลาร์ลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป”