xs
xsm
sm
md
lg

TG อ่วมหนักรายได้ Q4 หดน้ำท่วมทำรายได้หาย 3 พันล.คาดทั้งปีขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“การบินไทย” อ่วมน้ำท่วม รายได้ Q4/54 หาย 3,000 ล้านบาท คาด ผลประกอบการทั้งปีขาดทุน เหตุผู้โดยสารไม่กระเตื้อง Cabin Factor พ.ย.ลดทำประวัติศาสตร์ เหลือ 61% “ปิยสวัสดิ์” อัดคนดูแลปล่อยดอนเมืองน้ำท่วม แผนปรับปรุงเครื่องบินล่าช้าทำสูญเสียโอกาสหารายได้ ขณะที่ทำประกันเครื่องบินไม่มีปัญหา ส่วนโรงซ่อมและอาคารประกันหลังละ 300 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมาก โดยในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ต้องปิดทำการฐานปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2554 เพราะมีน้ำท่วมสูงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายในส่วนของเครื่องบิน อาคารและอุปกรณ์ต่างๆ

ส่วนการซ่อมแซมเครื่องบินที่ต้องล่าช้าออกไป ถือเป็นผลกระทบทางอ้อม นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2554 ลดลงอย่างมาก เนื่องจากหลายประเทศประกาศเตือนภัยในการเดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยเฉพาะในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ลดลง 40-50% เมื่อทำให้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ในไตรมาสที่ 4 /2554 (ต.ค.-ธ.ค.) ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในเดือน ต.ค.2554 อยู่ที่ 65.8% ลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.53 ที่มี Cabin Factor 74% เดือน พ.ย.2554 Cabin Factor อยู่ที่ 61% ลดลงกว่าเดือน พ.ย.ปีก่อนที่มี Cabin Factor 72% ส่วนเดือน ธ.ค.ตั้งเป้า Cabin Factor ไว้ที่ 70% โดยช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.เฉลี่ยที่ 65% ขณะที่ ธ.ค.ปีก่อนอยู่ที่ 75-76% ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทำโปรโมชันค่าโดยสารราคาพิเศษ ทั้งที่ช่วงไตรมาส 4 จะไม่ทำ เพราะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) แต่ผู้โดยสารก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เมื่อดูจากยอดจองตั๋วล่วงหน้า (Booking) เพราะนักท่องเที่ยวจะวางแผนการเดินทางล่วงหน้าและเปลี่ยนการเดินทางในช่วงปีใหม่ไปเที่ยวที่อื่นแทนไทยแล้ว โดยคาดว่า จะต้องรอถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 55 (ม.ค.-มี.ค.55) จึงจะรู้ว่าผู้โดยสารจะดีขึ้นหรือไม่

“ปกติไตรมาส 4 จะมีกำไรมาก แต่ตัวเลขตอนนี้เห็นได้ชัดว่าคงไม่ดีเท่าไร ผลประกอบการปี 54 จะให้มีกำไรคงลำบาก และมีโอกาสที่จะขาดทุน ภาพน้ำท่วมสนามบินดอนเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวตกใจ สื่อออกทุกวัน หลายประเทศออกประกาศเตือนภัยที่รุนแรง ทำให้ไม่มีคนเดินทางเข้ามาเที่ยว ทั้งๆ ที่จุดอื่นของกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ไม่มีปัญหาน้ำท่วม ส่วนเส้นทางในประเทศมีผู้โดยสารมากในช่วงแรกตอนอพยพเท่านั้น” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ส่วนผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น จะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือไม่นั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ความช่วยเหลือคงต้องถามไปที่เจ้าของสถานที่หรือผู้ดูแลพื้นที่ ปล่อยให้น้ำท่วมได้อย่างไร ก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าของ ใครทำให้นักท่องเที่ยวตกใจ ส่วนบริษัทยังเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ 5 ปีที่วางไว้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ Mission TG 100 ต่อไป ส่วนการออกหุ้นกู้ในปี 2555 นั้น ยังเป็นไปตามแผน คือ เพื่อชำระค่าเครื่องบิน แอร์บัส 380/3 ลำ และแอร์บัส 330-300/4 ลำ วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่จะออกจำนวนเท่าใด ต้องดูงบประมาณในภาพรวมอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบริษัทได้อนุมัติการออกหุ้นกู้ไว้จำนวน 40,000 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2554 จำนวน 8,000 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายช่างการบินไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้รับความเสียหายหลายส่วน โดยภายในโรงซ่อม (Hangar) มีเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการซ่อมใหญ่ 5 ลำ เสียหายน้อยเพราะยกเครื่องบินไว้ แต่การซ่อมจะล่าออกไป โดยเครื่องบินโบอิ้ง 747-200/2 ลำ ลำแรกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (Air Cargo) เสร็จล่าช้าจากแผนเดือน มี.ค.2555 ประมาณ 1 เดือน อีกลำปรับปรุงที่นั่งชั้นประหยัดใหม่ เสร็จล่าช้าจากแผนเดือน ธ.ค.2554 ประมาณ 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะกระทบไปถึงตารางการปรับปรุงเครื่องบิน ในปี 2555 ซึ่งมีแผนปรับปรุงอีก 13 ลำ เพราะต้องรวมกับที่ล่าช้าจากปีนี้อีก 3 ลำ

ส่วนเครื่องบิน แอร์บัส A 300-600/2 ลำ ที่รอจำหน่าย ได้มีการป้องกันเครื่องยนต์และฐานล้อไว้ ซึ่งบริษัทที่เสนอซื้อได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร กำลังประเมินราคา ทั้งนี้เครื่องบินเก่าอายุเกิน 20 ปี ราคาลำละประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (155 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการทำประกันภัยเครื่องบินไว้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเครื่องบิน 2 ลำนี้

บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบ ส่วนอาคารต่างๆ ที่ดอนเมือง บริษัทได้ทำประกันภัยกรณีอุทกภัยไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 300 ล้านบาทต่ออาคาร ซึ่งที่ดอนเมือง มีโรงซ่อม 5 หลัง และอาคาร 2 หลัง

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจะเป็นไปตามระเบียบบริษัท โดยจะช่วยเหลือกรณีบ้านพักเสียหายตามจริงหรือไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจ่ายเงินเดือน 1 เดือน ขึ้นกับส่วนใดมากกว่ากัน โดยพนักงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 25,000 คน คิดเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น