xs
xsm
sm
md
lg

กนง.หั่น ดบ. หนึ่งสลึงหนุน ศก.ฟื้น ธปท.ปรับเป้าจีดีพี 54 โตแค่ 1.8%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กนง. มีมติลด ดบ.นโยบาย 0.25% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ต้องใช้ยางแรง เพื่อกระตุก ศก. โงหัวจากพิษน้ำท่วมช่วงโค้งสุดท้าย ขณะที่ ธปท. คาดการณ์ "จีดีพี" ปีนี้ โตได้เพียง 1.8% ขณะที่ ธปท.เผยภาวะ ศก. เดือน ต.ค. ชะลอต่อเนื่อง จากน้ำท่วม-ศก.โลกหดตัว

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. วันนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้ เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่ส่งกระทบต่อภาคการเงินของประเทศหลักมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำและตลาดแรงงานที่ซบเซาอยู่ ทำให้การฟื้นตัวยังเปราะบาง

สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 3 จากการส่งออกที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แม้อุปสงค์ในประเทศยังเติบโตได้ปัญหาอุทกภัยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าที่ปรากฏในช่วงการประชุมครั้งก่อน โดยการผลิตบางส่วนหยุดชะงักจากผลกระทบทางตรงของอุทกภัยและผลกระทบทางอ้อมผ่านเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วน ทำให้ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับลดลงมาก

ทั้งนี้ คาดว่าผลจากอุทกภัยจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 และทั้งปี 2554 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก และแม้ว่าสถานการณ์อุทกภัยได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าหากมีปัญหาล่าช้าก็จะกระทบความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไปได้ แม้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และอุปสงค์ภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นจากการบูรณะฟื้นฟูภายหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอจะมีผลลดแรงกดดันดังกล่าวลงระดับหนึ่งขณะที่การขาดแคลนสินค้าจากภาวะอุทกภัยเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นเฉพาะในบางกลุ่มสินค้าและในบางพื้นที่เท่านั้น ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งขึ้นจนบั่นทอนเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจจึงมีไม่มาก

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงมีมากขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังอ่อนแอ ส่วนแรงกดดันด้านราคายังมีอยู่ แต่ไม่น่าจะเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นโยบายการเงินซึ่งแม้ปัจจุบันอยู่ในภาวะผ่อนปรนอยู่แล้ว ก็สามารถมีบทบาทสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไปได้มากขึ้น จึงมีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปีโดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับความจำเป็นของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนต.ค.ปีนี้ยังชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังคงขยายตัวได้

ขณะที่ อุปสงค์ในประเทศขยายตัวลดลงจากปัญหาการผลิตและการขนส่งมีผลให้การบริโภคภาคเอกชนเดือนนี้ขยายตัวติดลบ 3.7% จากเดือนก่อนหน้าติดลบ 1.6% สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ 3.0% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 0.2% รวมทั้งมีผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ดดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนชะลอและทำให้ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัว 41.8% จากเดือนก่อนหน้าที่เคยขยายตัว 25.7% และผลจากน้ำท่วมครั้งนี้ ยังมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ธปท.ทำการสำรวจความคิดจากผู้ประกอบการในภาคธุรกิจทั่วประเทศปรับลดลงแรง และลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย โดยความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนต.ค.ปรับลดลงจาก 48.5 จุด เหลือ 36.7% ซึ่งต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นที่ระดับ 50 จุด และความเชื่อมั่นทางธุรกิจในระยะ 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 50.6 จุด เหลือ 42.9 จุดในเดือนนี้

พร้อมกันนี้ ธปท.มองว่าผู้ประกอกบารในภาคการผลิตจะไม่ย้ายฐานการผลิตหนีจากไทย แม้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นาน คาดว่าในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ภาคการผลิตโดยรวมน่าจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น