“สภาพัฒน์” ปรับลดคาดการณ์ “จีดีพี” ปี 54 เหลือโตแค่ 1.5% จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่สำคัญทาง ศก. ชี้ไตรมาส 4 โดนกระทบอ่วม ติดลบ 3.7% ส่วนแนวโน้มปี 55 มั่นใจโตได้ 4.5-5.5% โดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นแกนหลักขับเคลื่อน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้เหลือเติบโต 1.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.5-4.0% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหนัก แต่ในปี 2555 คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้สูงถึง 4.5-5.5%
สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2554 ขยายตัวที่ระดับ 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ได้ปรับจีดีพีไตรมาส 2/2554 มาเป็นเติบโต 2.7% จากเดิมประกาศไว้ที่ 2.6% โดยการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/2554 สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวจากผลกระทบสึนามิ ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจากรายได้เกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว
ขณะที่ในไตรมาส 4/2554 คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหหญ่ที่ขยายวงกว้าง ซึ่งจะทำให้จีดีพีทั้งปี 2554 ชะลอตัวลงจากคาดการณ์เดิมด้วย
“จากปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายวงกว้างมาจนถึงเดือน พฤศจิกายน 2554 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม 2554 นั้น จะทำให้ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมส่งผลทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์”
ปัจจัยเรื่องน้ำท่วมมีผลกระทบเต็มที่ต่อไตรมาส 4 ต่อเนื่องยาวทั้ง 3 เดือน ทางสภาพัฒน์ประเมินว่า จากปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากถึง 8.7% ในไตรมาส 4/2554 หรือคิดเป็น 2-3 แสนล้านบาท จากแนวโน้มที่คาดว่า จีดีพีในไตรมาส 4 จะเติบโตได้ 5% ดังนั้น เมื่อหักลบผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วจึงทำให้คาดว่า จีดีพีในไตรมาส 4 อาจจะติดลบราว 3.7%
ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในไตรมาส 3/2554 มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.7% จึงทำให้ไตรมาส 3/2554 เติบโตได้ 3.5% จากเดิมที่ควรจะต้องโตได้ 4.2%
ส่วนในปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งอุปสงค์ภายในและต่างประเทศ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการเร่งรัดการลงทุนเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหากจากน้ำท่วมในปลายปี 2554
พร้อมกันนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ มาตรการภาษีที่มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคการบริการ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการเพิ่มรายได้ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง