xs
xsm
sm
md
lg

อินฟาร์สตรัคเจอร์ฟันด์-พักหนี้ครัวเรือน 6 แบงก์รัฐ ชงเข้า ครม.ไฟเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย  ภูวนารถนรานุบาล (ขวา)
รมว.คลัง ชงที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบเว้นภาษี ตั้ง อินฟาร์สตรัคเจอร์ ฟันด์ เพื่อระดมเงินลงทุนก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากน้ำท่วม คาด ช่วยจูงใจให้มีการจัดตั้ง และซื้อหน่วยลงทุน พร้อมชงโครงการพักหนี้ครัวเรือนของ 6 แบงก์รัฐ วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนยาว 3 ปี โดยต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อน 30 มิ.ย. แต่มีเงื่อนไขห้ามกู้ใหม่ แถมต้องเข้าอบรมฝึกอาชีพ คาดรัฐควักจ่ายชดเชยแทน 1.2 หมื่นล้าน

มีรายงานข่าวว่า วันนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอโครงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟาร์สตรัคเจอร์ ฟันด์) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบแนวทางการยกเว้นภาษีกองทุนฯ เพื่อให้มีการระดมเงินไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม หรือ ต้องก่อสร้างใหม่เพื่อสร้างระบบป้องกันไม่ให้น้ำท่วมอีก

ทั้งนี้ การเว้นภาษีจะให้ทั้งผู้ที่จัดตั้งอินฟาร์สตรัคเจอร์ ฟันด์ และผู้ซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนที่ตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเงินไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต้องเป็นโครงการเพื่อสาธารณะส่วนรวม ไม่ได้ระดมเงินไปก่อสร้างเป็นประโยชน์ของเอกชนเอง

โดยเบื้องต้นคาดว่า ผู้จัดตั้งอินฟาร์สตรัคเจอร์ ฟันด์ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี สำหรับผู้ซื้อหน่วยลงทุน คาดว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ทำให้เกิดการจูงใจทั้งผู้จัดตั้ง และผู้ซื้อหน่วยลงทุน

ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งอินฟาร์สตรัคเจอร์ ฟันด์ โดยต้องตั้งกองทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการจัดตั้ง เพราะรอความชัดเจนสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการประปานครหลวง (กปน.) รวมถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมจะระดมทุนผ่านกองทุนนี้แล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอโครงการพักหนี้ครัวเรือนที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.หลังจากที่สัปดาห์ก่อนเสนอเป็นวาระจร แต่นายธีระชัย ขอให้นำเข้าเป็นวาระปกติแทนโดยการพักหนี้ดังกล่าวจะครอบคลุมลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินของรัฐ 6 แห่ง รวม 7 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท โดยลูกหนี้ที่ต้องการเข้าโครงการสามารถยื่นเรื่องที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ทันที หลัง ครม.อนุมัติ และจะให้เวลา 3 เดือนในการตัดสินใจ

สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าโครงการได้จะต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2554 เพื่อป้องกันลูกหนี้ดีที่ต้องการเข้าโครงการในช่วงนี้ จึงทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายไม่มาก คือ ประมาณ 7 หมื่นบัญชี ซึ่งคนหนึ่งอาจมี 2 บัญชีก็ได้ แต่ต้องรวมมูลหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท

หากเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยต้องไม่อยู่ในขั้นตอนถูกดำเนินคดีหรือถูกยึดหลักทรัพย์แล้วโดยหากเข้าโครงการก็จะได้รับการพักหนี้เป็นเวลา 3 ปี ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หลังจากนั้น ปีที่ 4 หรือปี 2547 ธนาคารแต่ละแห่งจะมาพิจารณาดูว่าลูกหนี้มีความสามารถในการจ่ายหนี้ที่เหลืออยู่หรือไม่ หรือต้องปรับโครงสร้างใหม่ แต่ในระหว่างพักหนี้ 3 ปีรัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 สถาบันการเงิน รวมเป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ จะกู้เงินใหม่ไม่ได้ และต้องเข้าร่วมการโครงการฝึกอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการมีรายได้ที่มั่นคงและชำระคืนหนี้ได้ โดยเบื้องต้นให้แต่ละแบงก์ดูแลลูกหนี้ของตัวเอง แต่หากไม่ถนัดในการดำเนินโครงการก็ขอให้แบงก์ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านรับเป็นเจ้าภาพเช่น หากเป็นลูกหนี้เกษตรกรก็จะให้ ธ.ก.ส.ช่วยดูแลการฝึกอาชีพ หากเป็นประชาชนทั่วไปก็ให้ออมสินดูแล หากเป็นผู้ประกอบการก็ให้เอสเอ็มอีแบงก์ดูแล โดยต้องเป็นหลักสูตรที่มีหน่วยงานด้านฝึกอบรมวิชาชีพให้การยอมรับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น