“ยิ่งลักษณ์” พูดไม่เต็มปาก จะปรับ ครม.หรือไม่ บอกขอเก็บข้อมูลก่อน ยันไม่ย้าย ศปภ.ไปไบเทค อ้างถุงทรายยักษ์ช่วยชะลอน้ำได้ แต่กรุงเทพฯ เป็นปลายทางสุดท้ายที่น้ำต้องไหลผ่าน คงป้องกันได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดย กทม.ต้องเร่งสูบน้ำ และระบายอย่างเต็มที่
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 6 พ.ย.ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ว่า จะต้องประเมินการทำงานทุกระยะอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรนั้นขอดูก่อน เมื่อถามว่า แสดงว่า มีแนวโน้มที่จะมีการปรับ ครม.จริงใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ยังค่ะๆ วันนี้เข้าสู่ลักษณะของการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้สรุปว่าจะปรับหรือไม่ เพราะยังไม่ได้คุยกัน”
เมื่อถามว่า หลังการวางกระสอบทรายยักษ์ หรือ Big Bag ประเมินผลปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาเป็นอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ดูน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ได้นำกระสอบทรายขนาดจำนวน 6 แสนกระสอบ ไปอุดตามรูรั่วต่างๆ เชื่อว่า จะแบ่งเบาทุเลาลงไปได้ ทั้งนี้ คงต้องดูปริมาณน้ำในภาพรวมอีกครั้งว่าปริมาณน้ำนั้นลดลงหรือไม่ ทั้งนี้ ก็ยังเชื่อมั่น เพราะว่าการนำ Big Bag ไปทำแนวคันกั้นน้ำนั้นไม่ใช่แค่ 6 กิโลเมตร แต่ทำถึง 12 กิโลเมตร เนื่องจากได้มีการต่อเป็น 2 ช่วง ซึ่งวันนี้ได้ต่อเสร็จสมบูรณ์หมดแล้ว ส่วนปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามายังส่วนพื้นที่ตอนกลาง กทม.นั้น คงต้องคุยในหลายๆ ส่วน เพราะในภาพรวมธรรมชาติของน้ำนั้นก็ต้องไหลลง เราเองอาจจะชะลอได้เพียงบางส่วนไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะ กทม.เป็นปลายทางสุดท้าย อย่างที่เห็นกันวันนี้ปริมาณน้ำก็ยังท่วมขังอยู่ นั่นเพราะเป็นผลจากการที่เราชะลอน้ำ แต่สุดท้ายปลายทางของน้ำก็ต้องไหลไปยังคลองและตามระบบการระบายน้ำ
“ก็คงต้องขอให้ทาง กทม.เร่งสูบน้ำ และระบายอย่างเต็มที่ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในแต่ละจุด ก็จะเป็นการช่วยเร่งระบายน้ำในส่วน กทม.อีกทางหนึ่ง ส่วนจะระบายได้แค่ไหนต้องให้คณะทำงานเป็นผู้ชี้แจง แต่รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดย ศปภ.มีภารกิจ 2 อย่าง คือ การประสานงานในการพยายามป้องกันพื้นที่โดยรวมของประเทศว่าจะทำอย่างให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ขณะนี้ก็ได้ดูแลความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยที่มีประมาณ 3 ล้านคน ที่ยังต้องการการดูแลทั้งในเรื่องของอาหาร หรือปัจจัยพื้นฐาน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดเร่งสำรวจเพื่อเตรียมเยียวยาหลังน้ำลดจะมีการแก้ไขมาตรการการเยียวยาจากหลักการเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เบื้องต้นให้ผู้ว่าฯ เร่งไปสำรวจเยียวยาตามที่รัฐบาลได้ประกาศไป นอกจากนี้ ก็จะมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาช่วยเหลือทั้งมาตรการด้านสินเชื่อ การพักหนี้ รวมถึงภาครัฐและกระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกในการเสริมช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมแซมบ้านเรือน และกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลเรื่องข้าวของเครื่องใช้ นอกจากนี้ รัฐบาลจะเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เข้ามาดูแลประชาชนอีกทาง ซึ่งทุกจังหวัดก็ได้เริ่มวางแผนแล้วทั้ง 2 ส่วน คือ จังหวัดใดที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมขังก็จะปรับเพิ่มในการตั้งครัวรัฐบาล ผ่านทางกระทรวงมหาดไทย ไปยังอำเภอ และส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความทั่วถึง ส่วนจังหวัดที่น้ำเริ่มลดแล้วนั้น ก็เตรียมมาตรการในการสูบน้ำที่เหลือและเร่งบูรณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาเกี่ยวกับ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำไปเยียวยาผู้ประสบภัยนั้น ต้องรอให้ทางกระทรวงการคลังศึกษาก่อน
“แต่เบื้องต้นไม่ต้องห่วง ในส่วนของรัฐบาลมีงบประมาณเร่งด่วนที่เตรียมไว้ในการดูแลประชาชน ซึ่งได้จัดสรรไว้เรียบร้อยแล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว และ ยืนยันว่า ยังไม่มีแนวความคิดที่จะย้าย ศปภ.จากตึกเอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน ไปยังศูนย์แสดงสินค้าไบเทคบางนา ตามที่มีกระแสข่าวออกมา