ครม.เห็นชอบ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ฟื้นฟูอาชีพ-คุณภาพชีวิตเกษตรกรรวม 6 หมื่นล้าน มอบ“กิตติรัตน์”ประสานกระทรวงอุตฯ –กนอ.ทำแผนฟื้น 7 นิคมฯ ให้เดินเครื่องได้ภายใน 45 วัน สั่งรวบรวมทุกมาตรการฟื้นฟูที่ผ่าน ครม.แล้วส่งสภาพัฒน์ใน 24 ชม. ก่อนถึงมือนายกฯ ใน 3 วัน เพื่อทำแผ่นพับเผยแพร่ต่อไป
วันที่ 1 พ.ย. นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการ 2 โครงการคือสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรกรวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติร้อยละ 3 ต่อปี และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันร้อยละ 7 ต่อปีระยะ 3-5 ปีหรือยาวกว่านั้น ทั้งนี้เกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร ธ.ก.ส.สามารถขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าได้
นางฐิติมา กล่าวต่อว่า ในส่วนนิคมอุตสาหกรรม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ประสานกับผู้ประบการนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้ง 7 แห่งเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดระดับน้ำในนิคมอุตสาหกรรมและการฟื้นฟู หลังจากน้ำลดเพื่อให้ดำเนินการกิจการต่อได้ภายใน 45 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติการสูบน้ำ โดยจัดคณะกรรมการอำนวยการระดับนโยบายและอนุกรรมการระดับปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง
โฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เป็นผู้รวมรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข้อมูลช่วยเหลือเยียวยา ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว จากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ส่งมาให้สภาพัฒน์ภายใน 24 ชั่วโมง และจะรวบรวมใน 3 วัน ส่งให้นายกฯ อนุมัติต่อไป เช่น กระทรวงมหาดไทย บ้านเรือนเสียหายเท่าไหร่ จะต้องได้อะไรบ้าง หรือผู้เสียชีวิต รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลืออย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ข้าว พืชสวน ปศุสัตว์ มีหลักเกณฑ์อย่างไร เป็นต้น และเมื่อนายกฯ อนุมัติจะจัดทำเป็นแผ่นพับ ให้พี่น้องปะชาชนทราบและประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ต่อไป