นายกฯ ส.นายหน้าอสังหาฯ จี้รัฐดึงบ้านมือสองร่วมโครงการบ้านหลังแรก เพิ่มทางเลือกประชาชน เพราะในตลาดนั้นมีบ้านมือสองจำนวน 3- 4 แสนหน่วย และคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท
นพ.สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลหันมาสนใจธุรกิจบ้านมือสองอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่บ้านใหม่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น อีกไม่นานก็จะกลายเป็นบ้านมือสอง เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านมือสองมีมากกว่าบ้านใหม่ 6-7 เท่า แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์แฮมเบอร์เกอร์ทำให้บ้านมือสองเพิ่มขึ้น 12-13 เท่า
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนบ้านมือสองเป็นการถาวร โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมือให้ลดลง จะทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้อและเกิดการย้ายบ้านได้ง่ายขึ้น เช่น การย้ายบ้านเพื่อให้ใกล้โรงเรียนลูก หรือใกล้ที่ทำงาน ทำให้ประชาชนมีเวลาอยู่กับครอบครัวเป็นการลดปัญหาทางสังคม และช่วยชาติประหยัดพลังงานที่หมดไปกับการเดินทาง
"มาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านหลังแรก เป็นนโยบายที่ดีเพราะช่วยให้ประชาชนมีบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเรื่องดอกเบี้ยบ้านหลังแรก 0% นาน 5 ปี ที่จะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านประหยัดได้มาก แต่สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษี 10% เป็นเวลา 5 ปีนั้น ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่ได้รับประโยชน์เลย เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มาตรการดังกล่าวควรรวมถึงการซื้อบ้านมือสองด้วย เพราะในตลาดนั้นมีบ้านมือสองจำนวน 3- 4 แสนหน่วย และคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท"
นพ.สมศักดิ์ ยังเชื่อว่า หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและจูงใจให้คนซื้อบ้านมือสอง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม ก็จะช่วยให้ตลาดบ้านมือสองมีความคึกคัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบ้านมือสอง เช่น ธุรกิจต่อเติม ตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง
"แม้ว่าจะดูไม่มากเพราะบ้าน 1 หลังอาจใช้คนงาน 5-10 คน แต่ถ้าบ้านหลายแสนหลังก็จะมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ที่ภาครัฐจะมีรายได้จากภาษี ค่าโอน และค่าจดทะเบียนเช่นเดียวกับบ้านใหม่ ตราบใดที่ภาครัฐไม่ได้หันมาสนใจบ้านมือสอง ก็จะเห็นบ้านรกร้าง และอาคารเสื่อมโทรมทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อให้เกิดอาชญากรรมได้"
ทั้งนี้ หากนโยบายบ้านหลังแรกหากครอบคลุมถึงบ้านมือสอง เชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดความต้องการซื้อบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 5-10% จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญของตลาดบ้านมือสอง และอยากให้ช่วยพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ค่าภาษีรายได้จากการถือครองหัก ณ ที่จ่าย ควรคิดจากส่วนต่างของราคาซื้อและขาย (CAPITAL GAINS) ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ราคาตลาดและราคาประเมินของกรมที่ดินมีความใกล้เคียงมากขึ้นหรืออาจเท่ากันเลย
นอกจากนี้แล้ว ค่าธรรมเนียมการโอน ปัจจุบันคิดอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน อยากให้พิจารณาให้ต่ำกว่านี้หรือคิดเป็นขั้นบันไดตามมูลค่าสินทรัพย์ รวมทั้งภาษีธุรกิจเฉพาะปัจจุบันคิด 3.3% อยากให้ยกเลิกหรือคิดเป็นขั้นตามการถือครอง เช่น ถ้าถือครองไม่ถึง 1 ปี คิด 3.3% ถือครองตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ถึง 2 ปีคิด 2.2% ถือครองตั้งแต่ 2 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี คิด 1.1% ถือครองตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดังกล่าว