รมว.คลัง แจงนโยบายบ้านหลังแรก เพิ่มวงเงินจาก 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมราคาอสังหาฯ ในทำเลในเมือง และกลางเมืองด้วย เตรียมชง ครม.พรุ่งนี้ ลั่นปัญหา ศก.โลก ไม่น่าห่วง เพราะเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะ รบ.นี้ เน้นการกระตุ้น ศก.ภายใน มั่นใจรับมือได้ ชี้ ปัญหาที่ลุกลาม เกิดจากความบิดเบือน และหละหลวม ของประเทศใหญ่
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกะทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการสนับสนุนการมีบ้านหลังแรกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ โดยกำหนดราคาบ้านเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท เนื่องจากพิจารณาให้ครอบคลุมราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลในเมืองและกลางเมืองด้วย
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้น ผู้ซื้อสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านไปคำนวณหักลดหย่อนภาษีได้ปีละ 100,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี รวมเป็น 500,000 บาท สำหรับการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งเดิมทีนั้น รัฐบาลได้ร่างโครงการว่าจะช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่มองว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและครอบคลุมบ้านที่อยู่ในเมือง และมีราคาสูงขึ้น จึงเพิ่มวงเงินการซื้อบ้านดังกล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกกังปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป โดยเรกว่าอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยยืนยันว่า เราคงไม่ตกใจกับการชะลอตัวดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้มีการวางนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศไว้อยู่แล้ว ทั้งการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน
นอกจากนี้ การดำเนินการยังได้เตรียมแผนรองรับความเสี่ยงที่คำนึงถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป เอาไว้แล้ว อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดสมดุลของการค้าโลก แต่ต้องการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและองค์กรระหว่างประเทศได้มีการกระตุ้นกระบวนการแก้ปัญหาต่อประเทศเหล่านี้
โดยในสัปดาห์หน้า ตนเองจะเข้าร่วมประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า มีประเด็นที่คาดว่าจะหารือกัน คือ เศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ เพราะการแก้ปัญหายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น ไทยในฐานะของประเทศกำลังพัฒนาจะได้เสนอข้อห่วงใยในประเด็นการแก้ปัญหา โดยอยากเห็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำแล้วเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีความคืบหน้า และไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาแล้วกลับมาเกิดปัญหาอีก
สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ตนเองได้มีการหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้ปรับตัวรับมือการขึ้นค่าแรงใน 2 ด้าน คือ การช่วยเหลือในแง่ของการปรับตัวด้านเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อให้กระบวนการผลิตทำได้เร็วขึ้นและช่วยลดต้นทุน และการจัดสินเชื่อช่วยเหลือ เอสเอ็มอี เพื่อปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน และเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งทั้งหมดขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ ครม.ในเร็วๆ นี้
“หากพิจารณาในแง่ของวิกฤตการเงินของโลก ผมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากนโยบายที่บิดเบือน หละหลวมจากประเทศใหญ่ๆ ของโลก และความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ ทำให้ปัญหามีการกระจายวงกว้าง ดังนั้นเห็นว่าประเทศที่กำลังพัฒนาควรมีข้อท้วงติงในเรื่องนี้”
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ควรจะมีการติดตามการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาดำเนินการได้อย่างเนิ่นๆ ก่อนลุกลามเป็นปัญหาในวงกว้าง