xs
xsm
sm
md
lg

Moody’s ลดเครดิตธนาคารฝรั่งเศส คาดกดค่าเงินบาทอ่อนในช่วงสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ Credit Agricole จาก Aa1 เป็น Aa2 และ Societe Generale (SocGen) จาก Aa2 เป็น Aa3 รวมทั้งให้มุมมองเป็นลบ ซึ่งธนาคารทั้งสองเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของฝรั่งเศส

โดย Moody’s ให้เหตุผลในการปรับลดดังกล่าวว่า ธนาคารทั้งสองปล่อยกู้แก่ภาครัฐและเอกชนของกรีซสูง ส่งผลให้ทั้งสองธนาคารได้รับผลกระทบมากหากกรีซผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ในกรณีของ SocGen ยังมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาการระดมทุนในระยะสั้นเนื่องจากธนาคารพึ่งพาการระดมทุนผ่านตลาดทุน (wholesale funding) ในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ตาม ระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารทั้งสองแห่งที่ระดับดังกล่าวยังถือว่าสูงอยู่ (สูงกว่าเกณฑ์ต่ำสุดของ investment grade ที่ Baa3 อยู่ 5-6 ขั้น)

แต่ Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของ BNP Paribas ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส แม้จะมีข่าวว่าอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับธนาคารอีก 2 แห่ง แต่ Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของ BNP ที่ Aa2 เพราะมองว่า BNP ยังมีส่วนของกำไรและทุนเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบหากกรีซปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ BNP ภายใน 3 เดือนข้างหน้า

ข่าวดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนักในช่วงสั้น เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายและปรับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญของยุโรป เช่น DAX index ของเยอรมนี FTSE 100 index ของอังกฤษ และ CAC 40 index ของฝรั่งเศสต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น 1%-3% ในวันที่ 14 กันยายน 2554 ขณะที่ค่าประกันความเสี่ยง (credit default swap: CDS) ของธนาคารทั้ง 3 แห่งก็ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับก่อนช่วงการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ถือว่าความเสี่ยงในภาคธนาคารยังน่าเป็นห่วง การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทำให้ธนาคารทั้งสองมีต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาคธนาคารของยุโรปโดยรวม สะท้อนจาก CDS โดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ยุโรป 115 แห่ง (คำนวณโดย Bloomberg) ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากราว 360 bps ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 527 bps (basis points) และสูงกว่าเมื่อเทียบกับของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ 208 bps

นอกจากนี้ บริษัท JP Morgan ยังประเมินว่าเฉพาะในเดือนสิงหาคม มีการลดการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารกลุ่มประเทศยูโรรวมแล้ว 50 พันล้านยูโรจากความกังวลเรื่องผลกระทบของปัญหาหนี้สาธารณะต่อภาคธนาคาร ปัจจัยต่างๆ ชี้ว่าธนาคารยุโรปซึ่งกำลังต้องการสภาพคล่องกลับมีแนวโน้มที่จะระดมทุนได้ยากขึ้น

ภาคธนาคารยุโรปเป็นตัวแปรที่ต้องจับตามองเพราะอาจทำให้เกิดวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรอีกครั้ง เนื่องจากการกู้ยืมระหว่างธนาคารประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นช่องทางสำคัญที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ภาครัฐจะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ เสถียรภาพของภาคธนาคารยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง หากภาคธนาคารประสบปัญหา
สภาพคล่องก็จะทำให้การปล่อยกู้แก่ภาคเอกชนลดลง โดยเฉพาะถ้าปัญหาดังกล่าวรุนแรง ก็อาจนำไปสู่ภาวะ credit crunch (ภาวะที่สินเชื่อตึงตัว) ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

**เงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงที่ปัญหาในยุโรปรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงภาคการเงินในยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เงินทุนไหลกลับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งไทยอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ** ทั้งนี้ ค่าเงินบาทก็เริ่มกลับมาอ่อนค่าแล้วเกือบ 2% นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงที่ข่าวทางลบในยุโรปและความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับเงินยูโรที่อ่อนค่าลงเกือบ 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ความเสี่ยงในภาคธนาคารและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรปพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะยิ่งทำให้เงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและเงินบาทอ่อนค่าลง
กำลังโหลดความคิดเห็น