“หม่อมเต่า” แนะแบ่งเงินสำรองฯ 10% ตั้งกองทุนความมั่งคั่ง หาผลตอบแทนเพิ่ม ยันไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเสนอ รบ.ชุดก่อนไปแล้ว แต่ต้องมีเงื่อนไข และแก้ กม.พร้อมตั้ง คกก.ทั้งจากคลัง สำนักงบฯ ธปท.ตัวแทนภาคเอกชน และบริหารโดยมืออาชีพ เพราะเป็นเงินของประเทศ ไม่ใช่เงินแบงก์ชาติ หรือเงินของผู้ชนะการเลือกตั้ง ชี้ ปัจจุบันการบริหารทุนสำรองได้ผลตอบแทนต่ำ และขนาดที่หมาะสม 1 หมื่นล้านดอลลาร์
ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ของ รมว.คลัง โดยยอมรับว่า ปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศมีกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำไปลงทุนเป็นเงินฝากและพันธบัตรในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ดอกเบี้ยเงินฝากเหลือเพียง 0.3%
ขณะที่ไทยไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศในจำนวนที่สูงเหมือนอดีต ที่ไม่มีการจำกัดการนำเงินเข้าออกนอกประเทศ ดังนั้น เห็นว่า ควรนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่คงมีเงื่อนไข การกำหนดโครงสร้างกรรมการ เพราะทาง ธปท.ไม่มีประสบการณ์ของการลงทุนในตราสารทุนต่างๆ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก ธปท. จำนวน 2 คน กระทรวงการคลัง 2 คน ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากภาคเอกชน และมีการบริหารจัดการลงทุนโดยหาผู้มีประสบการณ์ เป็นมืออาชีพ
สำหรับคนที่มาคิดเรื่องดังกล่าว คงไม่ใช่มาจากฝ่ายการเมืองอย่างเดียว ต้องให้ประชาชนมาร่วมตัดสินใจด้วย อย่างไรก็ตาม จะต้องแก้ไขกฎหมายของแบงก์ชาติ หรือยกร่างใหม่ เพราะกฎหมายของแบงก์ชาติเขียนไว้เป็นการเฉพาะว่าการนำทุนสำรองไปลงทุนจะต้องให้มีเสถียรภาพ ไม่ได้เขียนเรื่องการพัฒนา ฉะนั้น จึงไม่สามารถซื้อตราสารทุนได้
“อีกประการหนึ่ง โดยอุปนิสัยของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติแล้ว ไม่มีประสบการณ์เรื่องตราสารทุน ดังนั้น คนทำไม่น่าจะเป็นคนแบงก์ชาติ เพราะเจ้าหน้าที่มีอุปนิสัยไม่เสี่ยงไว้ก่อน ส่วนคณะกรรมการกองทุนมั่งคั่ง ก็ต้องสมดุลในกลุ่มต่างๆ ทั้งจากผู้แทนแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และ ภาคเอกชนที่เคยลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งโครงสร้างนี้ ผมเคยเสนอรัฐบาลประชาธิปัตย์มาแล้ว”
นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท.หรือออกเป็นกฎหมายใหม่ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว มีการกำหนดแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน โดยยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก
ขณะนี้ ความจำเป็นของประเทศที่ต้องมีเงินสำรองนั้นต่ำลงมาก ผมก็เห็นด้วยกับท่าน รมว.คลัง เพราะที่ผ่านมา เราซื้อตราสารทุนก็เจ๊ง ตราสารหนี้ก็เคยเจ๊ง ประเด็น คือ เงินทุนสำรองนี้ ไม่ใช่เงินของใคร เป็นเงินของประเทศ ไม่ใช่ของแบงก์ชาติ และไม่ใช่เงินของที่ชนะการเลือกตั้ง ฉะนั้น การทำอะไรต้องคำนึงถึงส่วนรวม
“ประเด็นคือเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินของประเทศ ไม่ใช่เงินแบงก์ชาติ หรือเงินของผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นเงินของผู้ที่เคยเข้ามาลงทุน ดังนั้น กลไกการตัดสินในการลงทุนของกองทุน จะต้องมีตัวแทนจาก ธปท.ผ่านกลไกทางสังคม ให้มีผู้ร่วมตัดสินใจ แต่ไม่ใช่นักการเมือง”
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว ยังไม่มีการนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รมว.คลัง จะนำไปพิจารณาหรือไม่ สำหรับขนาดต่ำสุดของกองทุนที่ไม่กระทบกับการดำเนินงานของแบงก์ชาติ คือ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่า น้อยมาก และเป็นระดับที่ไม่มีใครมาหาเราหรอก นอกจากเราไปหาเขาเอง