“ธีระชัย” เตรียมหารือ “ประสาร” เร่งเปิดเสรีการเงินเร็วขึ้น รองรับ AEC ในปี 58 มั่นใจแบงก์ไทยมีความพร้อม เพราะกำไรที่สูง เล็งดึงแบงก์ใหญ่อันดับ 1 ถึง 3 ตั้งสำนักงานในไทย พร้อมเดินหน้าบี้ ธปท.ตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ ยันไม่แตะเงินหลวงตาบัวเด็ดขาด ลั่นหากกองทุนฯ มีผลขาดทุน พร้อมให้ รบ.ตั้งงบประมาณแผ่นดินนำไปอุดชดเชย ลั่นการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง พร้อมยกผลการลงทุนของ ธปท.ปัจจุบันก็ขาดทุนถึง 4 แสนล้าน รัฐต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 ในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยก้าวอย่างมั่นใจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมองว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการแข่งขัน หรือขยายการลงทุนในอาเซียน รวมถึงอาเซียน+3 ซึ่งจะเป็นกระตุ้นการแข่งขันระบบสถาบันการเงินทั้งในอาเซียน นอกจากนี้จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการได้มากขึ้น และทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายธีระชัยระบุว่า เรื่องดังกล่าวตนเองจะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเปิดเสรีด้านการเงินให้เร็วขึ้น รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งตามข้อตกลงของ AEC จะมีการเปิดเสรีเมื่อมีความพร้อมในปี 2558 และเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 2563 แต่ตนเองเห็นว่าไทยควรจะเปิดเสรีให้เร็วกว่ากำหนด โดยเฉพาะการเปิดรับให้ธนาคารอันดับ 1 ถึง 3 ของอาเซียนเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทย พร้อมมองว่าแบงก์ไทยมีความพร้อมรองรับการแข่งขัน เพราะดูได้จากผลกำไรแต่ละแบงก์ที่มีสูง
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ นายธีระชัยกล่าวว่า ตนเองจะให้แบงก์ชาติกลับไปพิจารณาข้อดีและข้อเสีย รวมถึงการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอย่างระมัดระวัง หากการบริหารกองทุนดังกล่าวมีผลกำไรให้ส่งเป็นรายได้เข้าคลัง แต่หากประสบผลขาดทุนรัฐบาลพร้อมตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ผลขาดทุนดังกล่าวให้ ซึ่งยอมรับว่า การบริหารกองทุนฯ มีกระบวนการบริหารความเสี่ยง และการลงทุนทุกรูปแบบย่อมมีผลกำไรและขาดทุน
“การตั้งกองทุนดังกล่าวจะให้ทุกคนเห็นด้วยหมด คงเป็นไปไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ผมจะพยายามพิจารณาอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ”
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าว ธปท.สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายภาระดอกเบี้ย เนื่องจาก ธปท.จะต้องมีการออกตราสารหนี้เพื่อดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งถือเป็นภาระของบัญชีย่อย นอกจากนียังมีค่าใช้จ่ายของคณะทำงาน การบริหารจัดการในการดูแลกองทุนซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายประจำปี
พร้อมกันนี้ นายธีระชัยยังยืนยันว่าตนเองจะไม่มีการแตะต้องเงินบริจาคและทองคำของหลวงตามหาบัวอย่างเด็ดขาด ซึ่งเงินบริจาคดังกล่าวมีการจัดแยกอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้
โดยก่อนหน้านี้ นายธีระชัยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงินของ ธปท. โดยอธิบายการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งฯ ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่การลงทุนบางอย่างก็เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอย่าเข้าใจผิดว่าการที่ ธปท.นำเงินทุนสำรองไปลงุทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปในขณะนี้ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งในปี 2553 ธปท.มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท รวมทั้งขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท ถือเป็นปัญหาที่ควรต้องแก้ไข
นอกจากนี้ การลงทุนของกองทุนมั่งคั่งไม่ถือเป็นการแทรกแซง ธปท.ถือเป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท.มีส่วนของทุนติดลบสูงถึง 431,829 ล้านบาท นอกจากนี้ การที่ ธปท.ขาดทุนมหาศาลทำให้ ธปท.ไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูที่มีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาทได้ ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท จึงเป็นภาระต่อนโยบายการคลังอย่างมาก