ทีม ศก.“รบ.ปู” ชักแถวการันตี นโยบาย ศก.ไม่ได้โม้ “กิตติรัตน์” ย้ำ ของขวัญปีใหม่ ขรก.มีเฮ ป.ตรี ได้ 15,000 แน่นอน เพราะเป็นสัญญาที่ให้ไว้ “เผดิมชัย” ยันค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำได้จริง เตรียมนำร่อง 7 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และ ภูเก็ต พร้อมแจงกรณีเปลี่ยนคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นคำว่า “รายได้” เพราะอยากให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรี 15,000 บาท นั้น ทางรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ และสามารถจ่ายได้ ภายในต้นปี 2555 เพราะถือเป็นคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่ให้ไว้ ภายใต้งบประมาณที่จัดสรรจากการพิจารณาในกรอบนโยบายการคลัง โดยการ ลด หรือ ชะลอ โครงการบางโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท และสำหรับผู้ได้รับการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพ (พ.ช.ค.) จะได้รับเงินรายได้รวมเมื่อสิ้นเดือน ประมาณ 15,000 บาท เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าว ขณะนี้ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว เพราะเป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ตามการเสนอแผนบริหารราชการแผ่นดินประกอบกัน และในส่วนของงบประมาณก็ดำเนินการตามขั้นตอนได้เลย
ด้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการขับเคลื่อนนโยบายรายได้ขั้นต่ำของแรงงานวันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท โดยยืนยันว่า สามารถทำได้จริง และไม่มีการบิดเบือนอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินไปแล้ว พร้อมระบุว่า การปรับค่าจ้างหรือรายได้นั้น จะต้องเป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
โดยในระยะแรก รัฐบาลจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นำร่องก่อน 7 จังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และภูเก็ต หลังจากนั้น ก็จะเริ่มทยอยปรับค่าแรงขั้นต่ำอีก 70 จังหวัดที่เหลือ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงต้องควบคู่ไปกับการฝึกฝนแรงงานให้มีความสามารถ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2555 จะได้เห็นความชัดเจนของรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาท โดยอาจจะนำร่องจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน และนำอัตราที่เพิ่มขึ้นไปบวกให้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูง ก่อนจะปรับให้มีอัตรา 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงกรณีการที่เปลี่ยนคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นคำว่า “รายได้” สาเหตุมาจากอยากให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ที่ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งแรงงานภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม และภาคบริการ ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา และไม่เต็มเวลาประมาณ 38 ล้านคน และมีผู้ว่างงานประมาณ 1.63 แสนคน
ดังนั้น จากนี้ไปทางกระทรวงจะพยายามส่งเสริมนโยบายเร่งด่วนด้านแรงงาน โดยจะเน้นส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และจัดอบรมยกการพัฒนาระดับฝีมือแรงงาน ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ลดความสูญเสีย เพิ่มคุณภาพของชิ้นงานให้มากขึ้น
“หากแรงงานมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ มีวินัย และสามารถผลิตชิ้นงานได้มีคุณภาพและจำนวนเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลถึงรายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ดีขึ้น”
ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการไตรภาคี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการในวันที่ 15 ตุลาคม 2554 นี้ จะมีการนำนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดที่นำร่อง โดยจะขอมติจากที่ประชุม ส่วนจังหวัดที่ปรับค่าแรงได้ไม่ถึงวันละ 300 บาท ในเบื้องต้นจะมีการเสนอให้มีการปรับขึ้นเฉลี่ยพื้นที่ละ 40% ซึ่งหากผ่านมติของไตรภาคี ก็จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 ทันที