บล.ไทยพาณิชย์ มองแนวโน้มหุ้นไทยปรับฐานระยะสั้น จากความกังวลเศรษฐกิจโลก คาด ดิ่งลงจุดต่ำสุดใน Q3/54 แนะทยอยซื้อสะสมก่อนขึ้นทดสอบ 1,200 จุด ในช่วงQ4/54 พร้อมแนะ 5 หุ้นเด็ดน่าเก็บเอาไว้ปล่อย
นายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/2554 ยังคงเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การสิ้นสุดของมาตรการ QE2 ของสหรัฐอเมริกา และปัญหาหนี้สินในยุโรป รวมทั้งการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อาจเป็นแรงกดดันให้ตลาดหุ้นในช่วงนี้มีแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมา และยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะทำต่ำสุดในไตรมาส 3/2554 ที่ระดับ 1,000-1,030 จุด
อย่างไรก็ตาม มองว่า ปัญหาต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายในช่วงปลายไตรมาส 3/2554 โดยเชื่อว่าสหรัฐฯ น่าจะผ่านเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ไปได้ ขณะที่วิกฤตหนี้ในยุโรปคงอยู่ในวงจำกัด
นอกจากนี้ แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย น่าจะปรับตัวลดลง ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนนุให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นในระดับสูงสุดได้ในช่วงไตรมาส 4/2554
“เชื่อว่า เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาอย่างชัดเจน หลังจากที่เห็นนโยบายรัฐบาลใหม่ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังเติบโตดี อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปึนี้จะอยู่ที่ 4-5% ขณะที่ผลประกอบการของ บจ. เติบโต 33% จากปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 3.5-4.0%”
ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนลูกค้าบุคคล สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 3/2554 แนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการไม่รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยแนะนำกลุ่มค้าปลีก และ กลุ่มแบงก์
ส่วนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แม้ช่วงนี้ราคายังไม่เคลื่อนไหว แต่เชื่อว่า หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงานแล้ว การลงทุนด้านต่างๆ จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มไอซีที รัฐบาลใหม่น่าจะสางโครงการต่างๆ เช่น 3G น่าจะเดินหน้าต่อ แต่ไม่แนะให้ลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับดีมานด์โลก และราคาน้ำมัน ซึ่งค่อนข้างมีความผันผวน
ทั้งนี้ แนะ “ซื้อสะสม” หุ้นเมื่อดัชนีปรับตัวลงบริเวณ 1,000-1,030 จุด มีค่า PER 11.7 เท่า TOP PICKS ได้แก่ ADVANC ราคาเป้าหมาย 122 บาท BIGC ที่ราคาเป้าหมาย 115 บาท KBANK ราคาเป้าหมาย 168 บาท PTTAR ราคาเป้าหมาย 52 บาท SCC ราคาเป้าหมาย 450 บาท STEC ราคาเป้าหมาย 17 บาท