xs
xsm
sm
md
lg

“ซีอีโอ” เผยต่างชาติเชื่อมั่นลงทุนในไทยมากขึ้น จับตาการแถลงนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีอีโอ” แบงก์ซีไอเอ็มบี เผย ต่างชาติเชื่อมั่นลงทุนในไทย หลังได้ผลเลือกตั้งมีเสถียรภาพ พร้อมจับตาการแถลงนโยบาย ก่อนตัดสินใจแห่เข้าลงทุน ด้านประธาน ส.ธนาคารไทย ชมเปาะ นโยบายรัฐบาลมีความเหมาะสม หนุนสินเชื่อแบงก์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านนักวิชาการแนะรัฐวางนโยบาย ศก.ให้สูญเสียน้อยที่สุด ห่วงระบบ ศก.ปัจจุบัน ถูกกำหนดโดยการเมือง ทำให้กลไกการดำเนินงานไม่เป็นไปตามปกติ เสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาทางวินัยด้าน ศก.ในอนาคต

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนภายหลังไทยได้รัฐบาล โดยระบุว่า นักลงทุนต่างชาติมีมุมมองเชิงบวก หลังผลการเลือกตั้งออกมามีเสถียรภาพ และชัดเจน แต่ยังไม่ให้น้ำหนักต่อการลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะยังรอรายละเอียดการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ จึงจะพิจารณาว่าจะเพิ่มการลงทุนในไทยหรือไม่

ขณะเดียวกัน เห็นว่า รัฐบาลควรดำเนินการเรื่องเร่งด่วน คือ การดูแลปัญหาปากท้องประชาชน อัตราเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลมีความเหมาะสม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว และเกิดการลงทุน

ขณะที่ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ยอมรับว่า เพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เชื่อว่าน่าจะปรับตัวได้และเป็นผลดีในระยะยาว

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบจากการเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ส่งผลให้ธุรกิจนั้นต้องปรับตัว และเชื่อว่า ความสามารถในการปรับตัวจะไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องวางนโยบายที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

นายตีรณ ยังกล่าวว่า แม้ค่าใช้จ่ายของประชาชนอาจลดลงจากนโยบายประชานิยม แต่อนาคตต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อว่า จะเป็นอย่างไร และมีสาเหตุมาจากปัจจัยใด ซึ่งภาครัฐนั้นต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย

ทั้งนี้ ยังมองว่า ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันถูกกำหนดโดยนักการเมือง จึงทำให้กลไกการดำเนินงานไม่เป็นไปตามปกติ ซึ่งระยะต่อไปอาจมีความเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาทางวินัยด้านเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น