xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทยรีบาวนด์ 10 จุด แรงซื้อแบงก์-อสังหาฯ คาดเก็งกำไรผลประกอบการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หุ้นไทยรีบาวนด์ 10 จุด แรงซื้อทะลักเข้ากลุ่มแบงก์และอสังหาริมทรัพย์ คาดเพื่อเก็งกำไรรับผลประกอบการ และอานิสงส์จากนโยบายที่อยู่อาศัยของรัฐบาลใหม่ รวมถึงกระแสการโยกพอร์ตลงทุนจากแบงก์มาสู่หุ้นแบงก์ไทยของเทมาเส็ก โบรกฯเชื่อเม็ดเงินต่างชาติยังกลับมาซื้อสุดท้าย จะมากแค่ไหนอยู่ที่ความชัดเจนในการตั้ง ครม.

ภาวะตลาดหุ้นไทย วานนี้ (7 ก.ค.) ดัชนีปรับตัวขึ้นมาอยู่ในแดนบวก โดยปิดที่ 1,083.08 จุด เพิ่มขึ้น 10.40 จุด หรือ 0.97% มูลค่าการซื้อขาย 25,873.76 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,083.26 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,076.61 จุด โดยแรงซื้อที่เข้ามาส่วนใหญ่มาจากการเข้าลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรผลประกอบการกลุ่มธนาคาร และนโยบายของรัฐบ้านในด้านที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม จากการที่กองทุนเทมาเส็กขายหุ้นธนาคารในจีน และมีการโยกเงินลงทุนมาไทย ซึ่งรวมถึงการเข้าลงทุนในหุ้นสถาบันการเงินด้วยนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวมีแรงซื้อเข้ามาเป็นพิเศษในช่วงนี้

โดยหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 339 หลักทรัพย์ ลดลง 93 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 133 หลักทรัพย์ และหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก คือPTT มูลค่าการซื้อขาย 2,080.81 ล้านบาท ปิดที่ 339.00 บาท ลดลง 1.00 บาท JAS มูลค่าการซื้อขาย 1,147.94 ล้านบาท ปิดที่ 3.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท PTTCH มูลค่าการซื้อขาย 994.47 ล้านบาท ปิดที่ 158.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท PF มูลค่าการซื้อขาย 881.44 ล้านบาท ปิดที่ 0.88 บาท เพิ่มขึ้น 0.17 บาท และBBL มูลค่าการซื้อขาย 760.24 ล้านบาท ปิดที่ 167.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท
ส่วนการซื้อขายสุทธิแยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างชาติ และสถาบันขายสุทธิ 1,013.48 ล้านบาท และ 562.27 ล้านบาท ขณะที่ นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 1,068.06 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 507.70 ล้านบาท

นายจักรกริช เจริญเมธาชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้เป็นลักษณะของการแกว่งไซต์เวย์ เนื่องจากตลาดฯกำลังรอดูการฟอร์มทีม ครม.ของรัฐบาลใหม่อยู่ ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียก็มีการแกว่งแคบทั้งในแดนบวก-ลบ โดยปัจจัยนอกประเทศยังมีความกังวลในเรื่องปัญหาหนี้ในยุโรป ภายหลังจากจบเรื่องของกรีซก็มีเรื่องของโปรตุเกสตามมา อีกทั้งแม้แต่สหรัฐฯเองก็มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของจีนก็เป็นไปตามที่ตลาดฯคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว

“เราเชื่อว่า เม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดย Flow ต่างชาติยังซื้ออยู่ แต่คงจะเป็นลักษณะของการตั้งรับมากกว่า ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศก็จะขายมากขึ้น”

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้รีบาวน์ขึ้นจากเมื่อวาน โดยแกว่งตัวในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยเป็นการเข้ามาเลือกกลุ่มเล่น ทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาเล่นเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการงวดไตรมาส 2/54 ที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลใหม่ ขณะที่กลุ่มคอมมูนิตี้เริ่มปรับฐานลง แต่มูลค่าการซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบาง ส่วนตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียวันนี้แกว่งตัวทั้งในแดนบวก และลบ ทำให้แนวโน้มการลงทุนในวันนี้ (8 ก.ค.) ดัชนีคงเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,070 จุด แนวต้าน 1,087-1,090 จึงแนะนำให้ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในคืนวานนี้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ดัชนีคอมโพสิตของตลาดหุ้นจีนปิดลบ 0.2% อยู่ที่ 2,810.5 สาเหตุหนึ่งมาจากบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิงส์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ทำการเทขายหุ้นในธนาคาร 2 แห่งของรัฐบาลจีนในวงเงิน 3.7 พันล้านดอลลาร์โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับลดการลงทุนในภาคการเงิน ซึ่งเทมาเส็กมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารราว 1.52 แสนล้านดอลลาร์ โดย 37% ของสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นการลงทุนในภาคการเงิน ขณะที่เทมาเส็ก ถือหุ้น 19% ในธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดของอังกฤษ และในดีบีเอสโฮลดิงส์ของสิงคโปร์

ทั้งนี้ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน ไฟแนนเชียล โฮลดิงส์ซึ่งอยู่ในเครือเทมาเส็ก เสนอขายหุ้น 5.19 พันล้านหุ้นในธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า ในราคาหุ้นละ 3.60-3.67 ดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งต่ำกว่าระดับปิด (5 ก.ค.) ราว 4.92-6.75% ส่วนบริษัทเคร์นฮิลล์อินเวสท์เมนท์ และบริษัท เครสเซนท์ อินเวสท์เมนท์ซึ่งอยู่ในเครือเทมาเส็กเช่นกัน เสนอขายหุ้น 1.5 พันล้านหุ้น ในธนาคารไชน่า คอนสตรัคชัน แบงก์ (CCB) ในราคาหุ้นละ 6.22-6.35 ดอลลาร์ฮ่องกงซึ่งต่ำกว่าระดับปิด (5 ก.ค.) ราว 2.01-4.01%

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า มาตรการการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และการสั่งให้ธนาคารเพิ่มทุนสำรองของทางการจีน เป็นสาเหตุให้เทมาเส็กตัดสินใจเทขายหุ้นทั้ง 2แบงก์ในจีนออกไป เพราะมองว่าโอกาสต่อการได้รับกำไรจากการลงทุนเริ่มมีน้อย จึงเกิดการขายเพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม แม้ เทมาเส็กจะมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยด้วย แต่เบื้องต้นยังไม่มีสัญญาณที่เทมาเส็กจะเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะภาวะเศรษฐกิจในไทยกับจีน นั้นแตกต่างกัน

แต่การที่เทมาเส็กจะเพิ่มน้ำหนักเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ของไทย อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะเทมาเส็กจะต้องรอความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในประเทศไทยก่อนถึงจะเข้ามาลงทุน เนื่องจากจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมธุรกิจธนาคารในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น