xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตือนประชานิยม"ฉุดศก.ใช้จ่ายเกินตัว-สวนทางพื้นฐานแท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้การส่งสัญญาณใช้จ่ายเกินตัวของพรรคการเมืองในขณะนี้ สวนทางกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการแรงกระตุ้นมากอย่างในช่วงที่ผ่านมาและไม่เหมาะสมต่อตลาดการเงิน เพราะจะเร่งให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น กดดัน ธปท.ต้องเข้มงวดในการใช้นโยบายการเงินและขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น "อัจนา" ย้ำนักลงต่างชาติยังไม่เชื่อมั่นการเมืองไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าหลายพรรคการเมืองออกนโยบายหาเสียงเน้นการใช้จ่ายในอนาคตมากขึ้น ธปท.มองว่ากรอบวงเงินงบประมาณปี 55 ไม่ควรขาดดุลเกิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ เพราะช่วงนี้มองว่าไม่ควรกระตุ้นเศรษฐกิจจนขาดดุลมากเกินไป ดังนั้นการส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งอาจมีความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้

“ขณะนี้ไทยมีฐานะทางการคลังค่อนข้งมั่นคง อีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็มีแรงขับเคลื่อนที่ดีพอควร แต่ก็มีเรื่องความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังต้องสอดคล้องกัน ถ้านโยบายการคลังดูแลอย่างดี การใช้นโยบายการเงิน หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไปก็อาจจะไม่ต้องปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่หากนโยบายการคลังมีการใช้จ่ายที่ส่งปัญหากับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงต่อไปอาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้น”

ผู้ว่าการ ธปท.ยังแสดงความเห็นต่อแนวนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีความเห็นว่า หากเป็นรัฐบาลจะกลับมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Rate) ว่า ในสภาพเศรษฐกิจโลกที่ค่าเงินสกุลหลักมีความผันผวนสูงมาก ในขณะนี้มีเงินน้อยสกุลมากที่ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยเราเลือกที่จะเปิดเสรีเงินทุน และอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจะต้องยืดหยุ่น ดังนั้น การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ (Managed Float ) ในขณะนี้ เหมาะสมกับประเทศไทยอยู่แล้ว

สำหรับกรณีที่รัฐบาลต่ออายุมาตรการรถไฟ รถเมล์ฟรีไปอีกจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การคงมาตรการดังกล่าวไว้มีผลให้ช่วงสั้นๆ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ก็ไม่สามารถลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อไว้ได้ ซึ่งปัจจุบันแรงกดดันเหล่านี้ยังมีอยู่ ดังนั้น เดิมทีที่ธปท.ประเมินว่าช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเกิน 3%ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน อาจขยายระยะเวลาออกไป แต่ไม่ลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ ธปท. การใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการควบคุมเงินเฟ้อกับไทยมีความสัมพันธ์ค่อนข้างน้อย พบว่า หากเงินบาทแข็งค่า 1% จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงแค่ 0.1-0.15% หากเงินบาทอ่อนค่า 1% ในทางกลับกันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งขึ้นวานนี้ (30 มิ.ย.) เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ที่ผ่านไปอีกช่วง ทำให้ค่าเงินเกือบทุกสกุลในโลกแข็งขึ้นตามทิศทางของเงินยูโร แต่ต้องเข้าใจว่า ปัญหากรีซในขณะนี้ยังไม่จบ ทำให้ต้องจับตามองทิศทางของการแก้ปัญหาต่อไป ส่วนการไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) 2 นั้น ไม่น่ามีผลกระทบให้การกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่องไปทำไม่ได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา ผลจากมาตรการ QE ได้ช่วยดึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวให้ลดลงมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว และเป็นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีโอกาสฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป

ด้านปัจจัยในประเทศ นั้น ในขณะนี้ยอมรับว่า นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กำลังจับตาสถานการณ์ในประเทศของไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก เงินทุนต่างประเทศจะยังไม่ไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทันที โดยมีปัจจัย 2-3 เรื่อง คือ การทำตาม และเคารพกติกาประชาธิปไตยหรือไม่ การทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งนโยบายขณะนี้ไม่แตกต่างกัน และสุดท้ายพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้ยังดีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น