xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ เกาะติด 2 ขั้ว ชี้ชะตาหุ้น Q3 จับตาทีม ศก.-เก้าอี้ รมว.กลาโหม เพื่อแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบรกฯ เกาะติดหุ้น Q3 หลังเลือกตั้ง แนะจับตา 2 ขั้วตั้ง รบ.ใหม่ หากเพื่อแม้วกลับมา ดัชนีอาจหลุดพันจุด เพราะไม่มั่นใจทีม ศก. และใครจะนั่ง รมว. กลาโหม ส่วนตำแหน่งนายกฯ นักลงทุนกังวล "ปู" ตัวจริง หรือเข้ามาทำนิรโทษกรรม ตามที่ประชาชนสงสัย พร้อมแนะนำหุ้นการเมืองดาวเด่น ส่วนภาวะหุ้นตลาดไทยวันนี้ ดัชนีปรับตัวรีบาวน์ 19 จุด

นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดลูกค้าส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวในการสัมมนา "เกาะติดหุ้นไตรมาส 3 รับเลือกตั้ง" โดยมองว่า ทิศทางของตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งมีประเด็นหลัก 2 ประเด็น คือ หากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้จัดตั้งรัฐบาล หุ้นจะแกว่งตัวค่อนข้างกว้างอยู่ระหว่างแนวรับ 1,000 จุด และแนวต้าน 1,050-1,060 จุด เนื่องจากภาคการเมืองค่อนข้างชัดเจน และความเสี่ยงทางการเมืองลดลง และอาจจะมีการซื้อกลับ หลังจากเทขายหุ้นออกในช่วงวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ถึงปัจจุบัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 37,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากทางพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้จัดตั้งรัฐบาลตลาดอาจจะมีการปรับตัวลง ก่อนอยู่ที่ 980 จุด แต่ก็จะมีการฟื้นตัว (รีบาวน์) กลับที่แนวต้าน 1,025-1,035 จุด เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความไม่มั่นใจในทีมเศรษฐกิจของพรรค และผู้ที่จะมานั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ นักลงทุนยังไม่มั่นใจในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง หรือเข้ามาเพื่อดำเนินการนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุน ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้น แม้จะแนะนำให้ซื้อลงมาประมาณ 1,000 จุด ซึ่งกลุ่มที่จะมาแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 จะเป็นผู้กลุ่มสื่อสารและสื่อสิ่งพิมพ์ และจับตาการเทิร์นอะราวด์ คือ กลุ่มหุ้นไทยคม แต่หากพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องจับตาหุ้นกลุ่มแอดวานซ์ด้วย และหุ้นที่ต่างชาติจะซื้อคืนในส่วนของธนาคารพาณิชย์

ด้านนายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เผยมุมมองภาพรวมการลงทุน โดยระบุว่า หลังจากดัชนีราคาหุ้นทั่วโลก รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 6 สัปดาห์ หลังจากที่ตลาดหุ้นโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และ จีน (H-Share) รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 4-5% ตั้งแต่ต้นปี ทั้ง นี้ เนื่องจากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลจากที่ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าที่นักลงทุน คาด ทำให้นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของในสหรัฐฯ และโลกจะเติบโตช้าลง

อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของมาตราการที่จะต้องช่วยเหลือกรีซของประเทศใน กลุ่มยุโรป ที่คอยกระทบบรรยากาศในการลงทุนเป็นระยะ รวมถึงเหตุการณ์ในไทยก็คือปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งแม้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลเพื่อสาน ต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติหยุดรอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยลบสำคัญๆ จะพบว่า 1. ปัจจัยเรื่องการว่างงานของสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤติทางการเงินในปี 2008 อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราว่างงานนั้นดีขึ้นตามลำดับหากพิจารณาอัตราว่างงานที่แตะจุดสูงสุดที่ 9.8% ไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ปัจจุบันอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 9.1% ซึ่งแม้ว่าจะสูงแต่ก็เป็นระดับที่ดีขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็มีการคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 8-8.1% ในปลายปีนี้ และเหลือเพียง 7% ใน ปลายปีหน้า

อีกทั้งเป็นที่ทราบดีว่าการว่างงานของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงนั้นมาจากผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรม ในประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวและวิกฤติการณ์ พลังงานจากการที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ อุบัติภัยดังกล่าว และจากการที่ภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเริ่มเดินเครื่องได้อีกครั้งน่าจะส่งผล ให้ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำในประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ น่าจะกลับมาผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตน่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ดังนั้นจึงน่าจะถือว่าเป็นปัจจัยลบที่โลกให้ความสนใจแต่สามารถคลี่คลายได้ใน ระยะเวลาอันสั้น

2.ปัจจัยหนี้สาธารณะในประเทศกลุ่ม PIGS ซึ่ง ที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้คือประเทศกรีซ ที่ประชาคมยุโรป และ ไอเอ็มเอฟ กำลังช่วยเหลืออยู่โดยมีแนวโน้มว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อจ่ายหนี้ สาธารณะที่ใกล้ครบกำหนด แต่อยู่บนข้อแม้ว่ารัฐบาลกรีซจะต้องมีวินัยทางการคลังคือต้องลดการใช้จ่าย ภาครัฐลง และจะต้องมีการทะยอยขายรัฐวิสาหกิจต่างๆ ออกไป เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ซึ่งประเด็นหนี้สาธารณะของยุโรปนี้จะไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววันและจะมีข่าว ทำนองนี้ออกมาเป็นระยะ พร้อมกับแนวทางในการเยียวยาของอียูบวกกับไอเอ็มเอฟ เพราะเป็นที่รู้กันว่าอียู คงไม่ยอมให้ประเทศเล็กๆ ในกลุ่มของตนมาทำให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปไร้ความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ปัจจัยลบนี้คงมีอยู่และก่อกวนความกังวลใจเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามประเทศผู้นำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรปเช่น เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ก็จะมีหน้าที่ คอยหามาตรการมารักษาอาการเป็นระยะไป

3.ปัจจัยเรื่องการเมืองของไทย ประเมิน ว่ายังคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อภาวะการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นที่ มีการลดลงในช่วงนี้ แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากปัจจัยลบจากภายนอกมากกว่า เพราะหากพิจารณาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นไทยในรอบนี้ก็ใกล้เคียงกับการ ปรับตัวลงของราคาหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบทางการเมืองแม้จะเกิดก็มักจะกระทบตลาดหุ้นในระยะสั้น เพราะหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ หลายๆ ตัวที่ถูกฝรั่งขายออกมาเมื่อราคาปรับลดลงมาถึงระดับหนึ่ง ก็จะเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้ลงทุนไทยกลับเข้าไปลงทุนใหม่ เพราะโดยพื้นฐานของกิจการต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถประกอบกิจการให้มีกำไรเติบโตได้โดยเฉลี่ยประมาณ 15% และ คาดว่าอัตราการจ่ายเงินปันผลของตลาดไทยเองก็ยังอยู่ในระดับที่น่าจูงใจ เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้น ปัจจัยลบทางการเมืองหากเป็นเรื่องทำให้หุ้นไทยปรับฐานลงมาอีก เชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าซื้อหุ้นกันใหม่อีกรอบ

4.ปัจจัย เงินเฟ้อ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่เร่งตัวเพิ่ม ขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพราะราคาอาหารและน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเร็ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภัยธรรมชาติทำให้อาหารขาดแคลน ในขณะที่สงครามในตะวันออกกลางทำให้ผู้ลงทุนเก็งกันว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับ เพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจอย่างจีนและประเทศในแถบเอเชียก็มีการขยายตัวทำให้ความต้อง การใช้สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นอาหารและพลังงานมีมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางของหลายประเทศที่เห็นสัญญาณของเงินเฟ้อก็มีการเร่งขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาฟองสบู่ ดังนั้นปัจจัยลบนี้เป็นปัจจัยที่มาพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ และ หากธนาคารกลางให้ความใส่ใจก็มีโอกาสที่จะควบคุมได้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหากราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวได้ ในครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อน่า จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

โดยสรุปหากพิจาณาพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี นี้น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 4% โดย เฉลี่ย ประกอบกับคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะยิ่งดูดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตได้ใหม่ ย่อมทำให้ปัจจัยลบหลักๆ น่าจะคลี่คลายลง ดังนั้นในช่วงนี้ ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนน่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนหาจังหวะเข้าลงทุน โดยหากเลือกเป็นประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ก็น่าจะเป็น สหรัฐฯ ที่ ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะในสมัยนี้บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ทำการค้าทั่วโลก ย่อมได้ผลดีหากเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจทางภูมิภาคเอเชียยังเติบโตดีอยู่เช่นนี้ ก็จะทำให้บริษัทเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี S&P 500 น่าจะมีการเติบโตของรายได้และผลกำไรตามไปด้วย
ส่วนประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ไม่นับ ญี่ปุ่น (Asia Pacific exclude Japan) ที่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และปลอดจากความเสี่ยงจากสงคราม โดยในตลาดเอเชีย ตลาดหุ้นจีน H-Share ยังเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดเอเชีย หากไม่นับเกาหลีใต้ ซึ่งหากหุ้นจีน H-Share ที่ปัจจุบันซื้อขายในระดับ PE ประมาณ 10-11 เท่า และสามารถกลับมาซื้อขายในระดับ PE เฉลี่ยที่ 14 เท่าตลาดหุ้นจีนก็น่าจะมีโอกาสสร้างกำไรได้ถึง 35-40%

สำหรับหุ้นไทย คงต้องเน้นไปที่จังหวะ หรือ ระดับดัชนีฯ ที่หากมองจากตัวเลขการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1,200 จุด ก็จะเห็นได้ว่า ณ ระดับราคาหุ้นตอนนี้ (ประมาณ 1,000 จุด) ก็จะเริ่มมีโอกาสคาดหวังผลตอบแทนได้ถึง 20% ดังนั้นสำหรับการลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นนักลงทุนระยะยาวตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจลงทุนมากขึ้น

"ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่าอัตราดอกเบี้ยยังเป็นแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้น ดังนั้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ไม่มีโอกาสทำกำไรได้เลย โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ดังนั้นสำหรับผู้ลงทุนแล้ว การลงทุนในหุ้นบ้างก็น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดี ไปอย่างน้อยในรอบ 12 เดือนข้างหน้า"

สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนีปิดภาคบ่ายที่ระดับ 1,034.92 จุด เพิ่มขึ้น 19.39 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +1.91% มูลค่าการซื้อขาย 20,558.06 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อของนักลงทุนกลับเข้ามาในหุ้นใหญ่ หลังตลาดปรับลดลงมามากแล้ว ทั้งนี้พบว่า สถาบันซื้อสุทธิ 855.45 ล้านบาท ตามมาด้วย นักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ซื้อสุทธิ 673.36 ล้านบาท และ 394.11 ล้านบาท ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น