xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.กระทุ้งรัฐทบทวนราคา “เอ็นจีวี” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.กระทุ้งรัฐทบทวนปรับขึ้นราคา “เอ็นจีวี” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริง เผยต้นทุนเฉลี่ยควรอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม ยอมรับ หากยังไม่มีการขยับขึ้นราคา อาจเป็นอุปสรรคในการขยายปั๊มเพิ่ม

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังได้รัฐบาลใหม่แล้ว ปตท.ก็จะเสนอให้มีการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ตั้งแต่ตัวราคาเนื้อก๊าซ ค่าขนส่ง ค่าบริหาร จัดการสถานีแม่และลูก และค่าการตลาดเอ็นจีวี เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งหากยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นราคาก็คงทำให้ ปตท.ไม่สามารถขยายการลงทุนสถานีบริการเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นได้มากนัก คงขยายได้เพียงแค่กำลังส่งสำรองที่เหลืออยู่อีก 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น

ทั้งนี้ แผนขยายการลงทุนสร้างสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีในปี 2555 ของ ปตท.เดิมมีแผนที่จะขยายเพิ่มเป็น 580 แห่ง จากเป้าสิ้นปี 2554 ที่จะมีอยู่ 500 แห่ง แต่ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีการปรับขึ้นราคา ซึ่งหากยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ปตท.ก็คงต้องกลับมาทบทวนแผนการลงทุนในปี 2555 ใหม่ เพราะทำก็ไม่คุ้มเนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวีวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ขณะที่ราคาขายถูกกำหนดไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

“เข้าใจว่า จะให้ปรับขึ้นทีเดียวคงไม่ได้เพราะจะทำให้ช็อก จึงต้องค่อยๆ ขยับเป็นขั้น ปตท.ก็ยินดีและพร้อมที่จะช่วย แต่ต้องช่วยแล้วจบไม่ใช่ไม่จบ เพราะช่วยมา 8 ปีแล้ว ขณะเดียวกันปริมาณการใช้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตัวภาระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ ปตท.ไม่สามารถสร้างระบบได้ทันขณะที่ขาดทุนมหาศาลแบบนี้”

นายเติมชัย กล่าวว่า ปตท.ยินดีเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจด้วย เพราะไม่ได้หวังที่จะผูกขาดธุรกิจเพียงรายเดียว แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจทำเพราะทำไปก็อยู่ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 6,400 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% เนื่องจากมีรถยนต์ที่หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้นถึงวันละ 400-500 คัน โดยจำนวนนี้เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถใช้ก๊าซเอ็นจีวี (โออีเอ็ม) ได้เลยมากถึง 77% และคาดว่า ปลายปีนี้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะสูงถึง 7,000 ตันต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น