“พลังงาน” ห่วงอนาคตก๊าซธรรมชาติแนวโน้มขาดแคลน หลังปริมาณใช้เพิ่มสูงต่อเนื่อง การใช้ไฟฟ้าพึ่งพิงก๊าซสูงถึง 70% เผย ปริมาณก๊าซอ่าวไทยเหลือใช้แค่ 15 ปี สั่งทุกฝ่ายศึกษาโครงสร้างทั้งระบบ และเตรียมแผนรองรับ
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตนเองได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาโครงสร้างพลังงานของไทยทั้งระบบ เพื่อหาแผนรองรับ เพราะปัจจุบันปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 70% ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาขาดแคลนได้ โดยปัจจุบันมีปริมาณการใช้วันละ 4.5-4.6 พันล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีปริมาณใช้เฉลี่ยวันละ 4.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต
“สาเหตุที่การใช้เพิ่มเป็นผลจากภาคขนส่ง โดยประชาชนหันมาใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะปัญหาน้ำมันแพงในช่วงที่ผ่านมา และความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเพิ่มต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจของไทยเติบโตต่อเนื่อง จะทำให้ปริมาณการใช้ในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลให้ปริมาณสำรองในอ่าวไทยเหลือเพียงพอต่อการใช้ในอนาคตแค่ 15 ปี จากที่คาดว่าจะใช้ได้อีก 18 ปี”
นายนที ทับมณี รองผู้อำนวยการ สนพ.เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี โดยจะประเมินค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สะท้อนความต้องการที่แท้จริง หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกเลื่อนออกไป 3 ปี และจะพิจารณาเรื่องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นด้วย
นายนที คาดว่า การศึกษาค่าพยากรณ์ใหม่จะเสร็จเดือนมิถุนายน 2554 นี้ โดยจะนำมาจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งจะระบุชัดเจนว่าแต่ละปีกำลังผลิตไฟฟ้าจะมาจากเชื้อเพลิงชนิดใด กำลังผลิตตลอดทั้งแผนจะเป็นอย่างไร รวมถึงการวางแผนบริหารเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และจะเปิดรับฟังความเห็นก่อนเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป