ธนาคารโลก เตือนนโยบายพรรคการเมืองหาเสียงแจกแหลก เร่งอัตราเงินเฟ้อพุ่ง แนะรัฐบาลใหม่กำหนดนโยบายให้รัดกุม หาไม่อาจต้องใช้งบฯมหาศาล ขณะที่คงอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.7% เพราะยังผจญปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกผันผวน น้ำมันแพง รวมถึงเสถียรภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทยกล่าวถึง การที่พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายเพิ่มรายได้และลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้เงิน อาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาลก็คงจะควบคุมการใช้งบประมาณ เพราะประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลชุดใหม่สร้างปัญหาดังกล่าว ก็จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเอง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชน ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น กองทุนหมู่บ้านที่เน้นช่วยเหลือรากหญ้าให้บรรลุผล เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินนโยบายดังกล่าว
ด้าน นายเฟรดเดอร์ริโก้ จิล ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ เนื่อง จากการที่รัฐบาลจะทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้าและเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเชื่อว่าเงินเฟ้อในไทยจะไม่รุนแรงจนเกิดปัญหาวิกฤตด้านราคา เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการควบคุมเงินเฟ้อได้
นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.7% แม้ช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้ แต่ในไตรมาส 2 ชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น ขณะที่ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกพร้อมปรับจีดีพีเพิ่ม หากปัจจัยเสี่ยงลดลง
นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทิศทางการพัฒนาของธนาคารโลก กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองหาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะให้ และทุ่มเงินเพื่อหวังผลระยะสั้น ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ปัจจุบันยังไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะหรือวิกฤติทางการคลัง แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน ต้องมีพื้นที่เหลือเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในอนาคต และสำรองไว้หากเกิดภาวะวิกฤติ ไม่ใช่ทำไปวันๆ จากการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นควรนำบทเรียนในช่วง 10-15 ปีมาเรียนรู้ เพราะประเทศที่มีการดำเนินเศรษฐกิจมหภาคแบบรอบคอบ รัดกุม มีอัตราการขยายตัวสูง
ส่วนรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนมิถุนายน 2554 ระบุว่าจีดีพีของเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3.2 %ในปี 2554 และเพิ่มเป็น 3.6% ในปี 2555 โดยสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จะต้องเผชิญกับภาวะราคาน้ำมัน และราคาอาหารแพงที่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายฮานส์ กล่าวว่า การควบคุมราคาอาหารจะส่งผลเสีย และต้องมีการใช้เงินจำนวนมากในการอุดหนุนราคาอาหารในประเทศ ควรที่จะดำเนินนโยบายช่วยเหลือด้านอาหารเฉพาะกลุ่มคนยากจน สร้างคลังอาหาร รวมทั้งอาจจะมีการห้ามการส่งออกอาหารในบางประเทศที่มีปริมาณอาหารไม่พียงพอ และไม่เป็นการบิดเบือนกลไกลด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารโลกมีแนวโน้มที่ปรับลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อราคาอาหารในแต่ละประเทศด้วย
ขณะที่การเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คาดว่าจะปรับตัวช้าลง แม้ยังคงรักษาระดับที่สูงไว้ การขยายตัวของจีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 8.5 %โดยปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคสูงที่ถึง5.3% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นประเด็นท้าทาย โดยเฉพาะจีนและไทย ที่ผ่านพ้นวิกฤตการเงินไปแล้ว จึงต้องเร่งแก้ปัญหาในประเทศ ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเข้มงวด เพื่อรับมือเงินเฟ้อ และจัดการกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง ให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน