ตลท.แจงตลาดหุ้นไทยลงหนักช่วงนี้ ได้รับแรงกดดันจากปัจจัย ตปท.การเมือง และเงินเฟ้อ พร้อมเผยภาพรวมตลาดเดือน พ.ค.ดัชนีหุ้นไทยปรับลงจากปัจจัยภายนอก สวนทางปริมาณซื้อขายอนุพันธ์ ส่วนภาวะหุ้นวันนี้ ดัชนีภาคเช้าปิดรูดลงเกือบ 18 จุด คาด ต่างชาติเทขายหนัก หลังโบรกต่างชาติพาเหรดปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย กังวลผลโพลให้พรรค “ปูแดง” นำโด่ง และอาจเกิดความรุนแรงหลังจากนี้
นางเทียนทิพ สุพานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงแรงขายของต่างชาติที่มากในช่วงนี้ คาดว่า เกิดจากการปรับพอร์ตลงจากก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาค่อนข้างสูงและหันไปลงทุนในทองคำและพันธบัตรรวมถึงความผันผวนทางการเมือง
โดยในช่วงสั้น พบว่า ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ เรื่องเงินเฟ้อ และรอดูว่าสหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) หรือไม่ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศซึ่งการเมืองเป็นปัจจัยผสมตลาดในช่วงสั้นด้วยนอกจากปัจจัยภายนอก แต่เชื่อว่าไตรมาส 3/2554 หลังเลือกตั้งแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับมาปกติ
สำหรับเรื่องเงินเฟ้อถือเป็นปัญหาของไทยเมื่อเทียบกับตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีวิธีการจัดการเรื่องเงินเฟ้อได้ดีมากกว่าอาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคดึงดูดนักลงทุนได้น้อยกว่า ทำให้หันไปลงทุนประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกสนับสนุนการลงทุนโดยเฉพาะงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2554 ที่ออกมาเติบโตถึง 30% หรืออยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต้นๆของภูมิภาคอีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังมีผลตอบแทน (Dividend Yield) สูงกว่าภูมิภาค
“เป็นเรื่องปกติที่ช่วงสั้นตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงเพราะได้รับการปรับลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) จากที่โกลด์แมนแซคส์ ได้ออกบทวิเคราะลดน้ำหนักการลงทุนในไทยลงจากปัญหาเงินเฟ้อ เป็นเชิงลบ (negative) ช่วงสั้น แต่เรายังมีปัจจัยดีที่จะหนุนระยะยาวในด้านการเติบโตของบจ.และถ้าหากมีความชัดเจนหลังเลือกตั้งตลาดก็จะกลับมาปกติ”
**ตลท.ฉายภาพรวมเดือน พ.ค.เจอมรสุมหนี้กรีซ
สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทย เดือนพฤษภาคม 2554 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ปิดที่ระดับ 1,073.83 จุด ลดลง 1.80% จากเดือนก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 3.98% จากสิ้นปี 2553 ซึ่งสูงเป็นลำดับ 2 ในภูมิภาครองจากเกาหลีใต้
การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ในเดือนพฤษภาคม 2554 สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค โดยมีสาเหตุสำคัญจากความกังวลของนักลงทุนต่อการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะยาวของกรีซ ซึ่งกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ทำให้เงินลงทุนในตลาดทุนซึ่งมีความเสี่ยงสูงเคลื่อนย้ายออกไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลท.ยังเชื่อว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่ารวม 16,697.75 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่มีสถานะขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปสู่ตลาดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยเฉพาะทองคำ ทำให้ปริมาณการซื้อขาย Gold Futures ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเปิดการซื้อขาย โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ Gold Futures ขนาด 50 บาท และ Gold Futures ขนาด 10 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 39.52% และ 25.99% ตามลำดับ
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ปรับลดลง ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) อยู่ที่ระดับ 8,741,716 ล้านบาท ลดลง 1.34% จากเดือนก่อนขณะที่ของ mai อยู่ที่ 76,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.42% จากเดือนก่อน เนื่องจากหลักทรัพย์ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายได้หลังถูกห้ามซื้อขายตั้งแต่ปี 2542
สำหรับอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (forward P/E ratio) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2554 ลดลงเป็น 12.42 เท่า เทียบกับ 12.85 เท่าในเดือนก่อน ในขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ทรงตัวในระดับสูงที่ 3.57% และตลาดหลักทรัพย์ mai มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 2.99% ลดลงจากระดับ 3.90% ในเดือนก่อน
เมื่อพิจารณาแยกตามดัชนีหลักทรัพย์รายอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีหลักทรัพย์ของอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยปรับลดลง 5.74% 3.43% และ 3.07% ตามลำดับจากเดือนก่อน
สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเกิดจากหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในในหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และหมวดเหล็ก ที่ปรับตัวลดลงมาก เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในหมวดพลังงานที่ปรับตัวลดลง เป็นสาเหตุให้ดัชนีของทั้งกลุ่มทรัพยากรปรับลดลง ทั้งนี้ เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง
นอกจากนี้ สำหรับหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงเนื่องจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai ในเดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ 32,661.90 ล้านบาท ลดลง 9.32% จากเดือนเมษายน 2554 แต่เพิ่มขึ้น 36.58% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ในเดือนนี้นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 16,697.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2554 นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อสุทธิ 12,134.82 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนบุคคล สถาบันในประเทศ และบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือนนี้
หากพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) และกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2554 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นในกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดเล็ก (Non-SET50) โดยเพิ่มขึ้นเป็น 35.79% ของมูลค่าการซื้อขายรวม จาก 29.84% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนก่อน ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่ม SET10 และ SET11-30 ลดลง สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายรายหมวดอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ หมวดธนาคาร และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สำหรับตลาดอนุพันธ์ในเดือนพฤษภาคม 2554 มีปริมาณการซื้อขายรวม 662,663 สัญญา และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 36,815 สัญญา ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ตลาดอนุพันธ์เริ่มเปิดการซื้อขายโดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น 20.43% จากเดือนก่อน และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 สูงกว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของปี 2553 ถึง 58.45% ในเดือนนี้ทุกตราสารที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นทุกประเภทจากเดือนก่อนและมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มซื้อขาย ยกเว้น Single Stock Futures สำหรับตราสารที่มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดได้แก่ SET50 Index Options ที่เพิ่มขึ้นถึง 86.35% จากเดือนก่อน
ในเดือนพฤษภาคม 2554 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 8,290 ล้านบาท โดยแยกเป็นการระดมทุนในตลาดแรก (Initial public offering: IPO) มูลค่า 4,060 ล้านบาท จากการเข้าจดทะเบียนของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ศรีไทย (SSTPF) ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง ( Secondary equity offering: SEO) มูลค่า 4,230 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าระดมทุน 55,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.69% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
**หุ้นภาคเช้าร่วงเกือบ 18 จุด คาดต่างชาติเทขาย
สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ ดัชนีปิดช่วงเช้าที่ระดับ 1,016.89 จุด ลดลง 17.86 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.73% มูลค่าการซื้อขาย 16,652.19 ล้านบาท โดยพบว่ามีการเทขายหุ้นในกลุ่มหลัก ภายหลังจากที่โบรกเกอร์ต่างชาติได้มีการปรับลดคำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลง
โดยวานนี้ โกลด์แมน แซคส์ ลดคำแนะนำลงเป็น Underweight และในวันนี้ทางเครดิตสวิส ก็ลดน้ำหนักลงทุนตลาดหุ้นไทย โดยให้คำแนะนำเป็น Neutral โดยมีประเด็นสำคัญจากเรื่องการเมืองไทย ซึ่งจากโพลที่ออกมาว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) มาแรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นจึงมีความกังวลกันว่า อาจจะมีอะไรรุนแรงหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ปัจจัยการเมืองจึงเป็นตัวกดดันตลาดในช่วงนี้
สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ นักลงทุนก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินในยุโรป และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีการชะลอตัวมาก อีกทั้งเดือนนี้ QE2 ของสหรัฐฯ ก็สิ้นสุดลงด้วย ทำให้ภาพจากภายนอกประเทศยังเป็นลบอยู่ ส่วนแนวโน้มในช่วงบ่าย คาดว่าดัชนีจะยังคงอยู่ในแดนลบ และกังวลว่าในสัปดาห์นี้ หากไม่มีข่าวดีหนุน ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสหลุดระดับ 1,000 จุด