xs
xsm
sm
md
lg

คาดเงินนอกระบบสะพัดเลือกตั้ง ธปท.รับครั้งที่แล้ว แบงก์ 100 แบงก์ 500 ว่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. เผยหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งต่อเนื่อง หลังยอดกู้ซื้อรถยนต์สูงขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น เตรียมเกาะติดเงินนอกระบบช่วงเลือกตั้ง เริ่มมีความเคลื่อนไหว คาดเริ่มมีการไหลเข้าช่วงก่อนยุบสภาฯ 1 เดือน พร้อมยอมรับ ครั้งที่แล้ว แบงก์ 100 แบงก์ 500 ปลิวว่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุด ประจำเดือนเมษายน 2554 โดยยอมรับว่า หนี้สินของภาคครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่า ตัวเลขในการกู้ยืมเพื่อซื้อยานพาหนะ ยังคงมีการขยายตัวในอัตราสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากรายได้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทาง ธปท. อาจต้องเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นช่วงที่ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาดในช่วง 1-2 ปี นับจากนี้ มีอัตราที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการลดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะการสร้างอาคารชุดลง เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ทำให้ยังไม่พบสัญญาณที่ชัดเจนถึงความไม่สมดุลในตลาด

สำหรับราคาที่อยู่อาศัยถือว่ายังทรงตัว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค แม้มีแรงกดดันด้านต้นทุนมากขึ้น ทั้งจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินว่า ดอกเบี้ยที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มากขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เร่งขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคต

นอกจากนี้ ธปท.ยังยอมรับว่า เริ่มติดตามการเคลื่อนไหวของเงินในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะทราบว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการเลือกตั้งจะเริ่มเข้ามาในระบบในช่วงก่อนการยุบสภาฯ ประมาณ 1 เดือน และเงินส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาจากระบบสถาบันการเงิน แต่จะเป็นเงินเก็บที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงินที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นในระบบ

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งแทบทุกครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการขอความร่วมมือให้สายสถาบันการเงิน และสายออกบัตรธนาคารติดตามการเคลื่อนไหวของเงินในช่วงที่มีการเลือกตั้งอยู่แล้วว่า มีกรณีการเคลื่อนไหว หรือการเบิกจ่ายที่ผิดปกติหรือไม่ โดย ธปท.จะขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นประจำอยู่แล้ว และในการเลือกตั้งครั้งนี้ หาก กกต.มีหนังสือมาก็จะดำเนินการตามปกติอยู่แล้ว

"การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เท่าที่มีประเมินภาพรวมได้ พบว่า ในช่วงการเลือกตั้งการเบิกจ่ายธนบัตรจะเพิ่มขึ้นในชนิดราคา 100 บาท และ 500 บาทเป็นสำคัญ ส่วนธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทนั้นจะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากนัก ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท และ 20 บาท จะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติไม่มากซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน แตกต่างจากการเลือกตั้งในสมัยก่อน ต้องเพิ่มการเบิกจ่ายธนบัตรหมุนเวียนในชนิดราคา 20 บาท และ 50 บาทมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสำรองธนบัตรสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงเลือกตั้งเพิ่มเติมเหมือนในช่วงเทศกาล เพราะเป็นช่วงเวลาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งทาง ธปท.สามารถปรับการเบิกจ่าย และพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นได้อยู่แล้ว เนื่องจาก ธปท.ติดตามความต้องการใช้จ่ายเงินของประชาชนตลอดเวลาหากเห็นความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นก็สามารถพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นได้

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ในช่วงการเลือกตั้งจะมีเม็ดเงินเข้าเพิ่มขึ้นในระบบการเงินมากน้อยแค่ไหน เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตามปกติการเลือกตั้งจะมีผลกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ดังนั้นคงต้องติดตามต่อไปว่า จะมีผลต่อภาพรวมในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และอย่างไร

ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของไทย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. ยอมรับว่า ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณที่เพิ่มขึ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2553 และอยู่ระหว่างติดตามดูสถานการณ์ แม้ขณะนี้ถือว่ายังไม่มีความน่าห่วงนัก และเชื่อว่าการทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ ก็น่าจะชะลอความร้อนแรงเรื่องนี้ลงได้

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัว ทำให้รายได้ครัวเรือนขยายตัวดี โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2553 ที่ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินทรัพย์เพื่อการอุปโภคยังคงมีแนวโน้มลดลง

ด้านนางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายออกบัตรธนาคาร กล่าวว่า ในช่วงการเลือกตั้งทุกครั้ง ธปท. จะมีการติดตามปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบที่เพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการติดตามตามปกติของทุกครั้งอยู่แล้ว เนื่องจาก ธปท. จำเป็นต้องคำนวณในการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายของประชาชนแต่เท่าที่จากการติดตามการเบิกจ่ายธนบัตรในช่วงที่ผ่านมา และขณะนี้ยังไม่พบการเบิกจ่ายธนบัตรชนิดใดที่มากผิดปกติ แต่ในขณะนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นยังต้องติดตามการเบิกจ่ายธนบัตรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น