“ทรีนิตี้” แนะจับตาเงินเยนแข็งค่าเป็นพิเศษ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติ หวั่น Fund Flow ปั่นป่วนทั่วโลก ขณะที่หุ้นไทยได้รับผลกระทบน้อย หลังต่างชาติถือหุ้นลงทุนต่ำกว่า 1% ในมาร์เก็ตแคป เชื่อรับแรงขายนักลงทุนได้
วันนี้ (17 มี.ค.) นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นได้ว่า Flow ได้ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง และช่วงนี้จะสังเกตว่า เงินเยนแข็งค่าขึ้นเป็นพิเศษ ตรงนี้เรียกว่า การลงทุนของญี่ปุ่นเมื่อมีกำไรจะส่งกลับไปที่ญี่ปุ่นเลย ซึ่งตอนนี้อาจจะส่งเงินกลับไปญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ภายหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น ตอนนี้ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้หลุดระดับ 80 เยน/ดอลลาร์ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องจับตาดูผลกระทบจากที่ค่าเงินเยนแข็ง อาจจะมีการแทรกแซงของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ Fund Flow ปั่นป่วนไปอีกรอบหนึ่งทั่วโลก โดยล่าสุด ฝ่ายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ค่าเงินเยนอยู่ที่ 78.9-79.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ
“แต่เนื่องจากฝรั่งถือหุ้นไทยน้อย ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา เขาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่ำกว่า 1% ของมาร์เก็ตแคป ฉะนั้น หุ้นไทยจึงได้รับผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างน้อย ดังนั้น จึงเห็นหุ้นของประเทศอื่นลงมากกว่าประเทศไทย ทำให้สภาพคล่องภายในประเทศสามารถรับแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาในตะวันออกกลางมองว่าเป็นปัญหาที่น่าจะยืดเยื้อ ไม่สามารถจบได้เร็ว ซึ่งภาพก็คงจะจำกัดอยู่กับพวกกลุ่มที่เรียกกันว่า MENA (Middle East and North Africa) เท่านั้น ซึ่งถ้าปัญหาไม่ลุกลามไปยังคูเวต และซาอุดีอาระเบีย ภาพก็ยังลงทุนได้อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลิเบีย หรือแถว MENA ปิดการผลิตไป 1 ปี รวมทั้งมีการลุกลามไปประเทศซาอุดีอาระเบีย ตรงนั้นก็จะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
“2-3 เดือนนี้ตลาดหุ้นไทย คงจะซึมซับข่าวดังกล่าวนี้ไปก่อน ถ้าดูการลงทุนทั่วโลก จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นดึงเงินกลับเพื่อไปช่วยเหลือจากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น แต่ถ้าดูสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก ก็จะเห็นว่าการแก้ไขของญี่ปุ่นจะเป็นตัวบอก Fund Flow จะไปทางไหน เพราะบอกได้ว่าดอกเบี้ยของญี่ปุ่นตอนนี้ก็ยังต่ำ แค่ 0-0.25% ก็คือ ต่ำกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว การคลังของญี่ปุ่นก็มีการขาดทุนงบประมาณค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าดูเวลานี้คงจะมองสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนอยู่ 2 อย่าง เมื่อมีการอ่อนตัว ก็คือ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และสินทรัพย์พวกหุ้น เพราะว่าถ้าเงินเฟ้อขึ้นมา สินทรัพย์พวกบอนด์ก็จะให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจ” นายวิศิษฐ์ กล่าว