“กรณ์” โชว์ผลสอบหลักฐาน ก.ล.ต.ยันไม่เคยปั่นหุ้นไทยคม จวกฝ่ายค้านตรวจสอบบัญชีซื้อขายหุ้นของตนและภรรยา ซัดอยู่วงการมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยมีพฤติกรรมปั่นหุ้นผิดกฏหมาย
วันนี้ (15 มี.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีฝ่ายค้านพาดพิงว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการปั่นหุ้นไทยไทยคม อยากขอชี้แจงว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในเดือน ธ.ค.2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 400 จุด แต่เพราะผลจากการบริหารนโยบายของรัฐบาล ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีกำไรมากที่สุดในประวัติศาตร์ ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000 จุด
“ผมถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาหลักทรัพย์ นั่นอาจเป็นเพราะผมอยู่ในวงการนี้ น่าจะรู้วิธีการและมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น ถือว่าเป็นการดูถูกผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ และอาจเป็นเพราะพฤติกรรมที่พวกท่านคุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะ ก.ล.ต.และ ตลท.มีความเข้มข้นในการตรวจสอบ ผมอยู่ในวงการนี้มา 19 ปี ขอยืนยันว่า ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่มีการซื้อขายหุ้นแบบผิดกฎหมาย ที่ทำให้ ก.ล.ต.มาสอบให้เสียเวลา”
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องไทยคม ซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมที่ใช้ในการสื่อสารภาพรายการโทรทัศน์ มีปัญหาสมัยเสื้อแดง ที่รัฐบาลออก พ.ร.ก ฉุกเฉิน เพราะมีการแพร่ภาพที่ขัดต่อนโนบายของรัฐบาล ดังนั้น นายกฯ จึงมอบหมายให้ ผมติดต่อไปยังผู้มีอำนาจสูงสูดของไทยคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของชินคอร์ป จึงเป็นเหตุให้ผมต้องเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อพบเทมาเส็กในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป เมื่อวันที่ 17 เม.ย 2553 และได้เชิญ นายศิริโชค โสภา ไปด้วย
ทั้งนี้ การที่ไปสิงคโปร์ เพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นได้ทราบว่า บริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่มีแนวทางการดำเนินงานขัดต่อการทำงานของประเทศ ผู้ถือหุ้นจึงแจ้งว่าจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของไทยคม
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามเรื่องความสนใจเรื่องหุ้น เพราะเมื่อปี 2549 เทมาเส็ก เคยแถลงว่าการเข้าไปซื้อหุ้นชินคอร์ป ทำให้เทมาเส็ก ได้หุ้นไอทีวี และ ไทยคม ด้วย ซึ่งทาง เทมาเส็กได้แจ้ง ก.ล.ต.ว่าต้องการสงวนสิทธิการซื้อหุ้นรายย่อย เพราะไม่ต้องการถือหุ้นไทยคม ดังนั้นจึงถามเทมาเส็กยังมีแนวคิดนี้อยู่หรือไม่ แต่ยังไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะประเด็นหลักคือการให้เทมาเศ็กดูแลผู้ถือหุ้นไม่ให้ปฎิบัติขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“จนกระทั่ง 2 เดือนต่อมา 13 มิ.ย.มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศพูดถึงแหล่งข่าวต่างประเทศ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือเทมาเส็ก ออกมาให้ข่าวว่ามีการพูดคุยระหว่างเทมาเส็ก รมว.คลัง และ นายศิริโชค โสภา ดังนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จึงโทร.มาถามผมว่ามีแนวโน้มการซื้อหุ้นเทมาเส็กหรือไม่ ซึ่งผมก็ตอบว่าไปจริง ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุผลที่ต้องปิดบัง หลังจากนั้น ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไป ข้อเท็จจริงคือ ช่วงนั้นผมไม่ซื้อหุ้นไทยคม และชีวิตนี้ผมไม่เคยซื้อหุ้นไทยคม ก.ล.ต.ตรวจแล้วพบว่าไม่มีใครได้กำไรจากกการปั่นหุ้นไทยคม ราคาหุ้นที่ขึ้นก็เพราะข่าวเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับเทมาเส็ก”
นายกรณ์ กล่าวว่า ไทยคมเป็นเจ้าของสัมปทาน แต่ตัวดาวเทียมเป็นทรัพย์สินรัฐบาล แต่สิทธิการเก็บรายได้เป็นสิทธิของบริษัท เวลาพูดกันเรื่องซื้อขายหุ้น คือ การซื้อสิทธิหรือซื้อหุ้นใน ตลท.ที่อ้างว่าไทยคมเป็นของคนไทยคงไม่ถูกนักไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นมา จึงถือว่าไม่เหตุผลในการกล่าวเรื่องนี้
นายกรณ์ ชี้แจงอีกว่า จึงได้เสนอรายงาน ก.ล.ต.กรณีการซื้อขายหุ้นไทยคม ผิด พ.ร.บ. ได้ข้อสรุปว่า ก.ล.ต. ไม่พบข้อบ่งชี้ ข่าวการเผยแพร่ข่าวของ บางกอกโพสต์ ทำให้เกิดการปั่นราคาหลักทรัพย์ และผู้ที่ให้ข่าวนั้นไม่ใช่คนในรัฐบาล และคนให้ข่าว ก็เพื่อเป็นการตอบข้อซักถาม ไม่ใช่การเผยข่าวเท็จ
ขณะที่ ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.241 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์นั้น ก.ล.ต.ไม่พบการซื้อขายหุ้นไทยคม ในระว่างที่ตรวจสอบ พบผู้เดียวที่ขายหุ้นในช่วงนั้นมาก โดยผู้นั้นคือพนักงานของไทยคม ในเครือของกลุ่มชินคอร์ปเอง ซึ่ง ก.ล.ต.ไปตรวจบุคคลนั้นแล้ว พบว่า ไม่มีเหตุผลว่าผู้นี้จะใช้ข้อมูลภายใน เพราะซื้อหุ้นนี้ก่อนที่จะมีการเดินทางไปสิงคโปร์ เช่นเดียวกับมาตรา 243 เรื่องการสร้างราคา ก.ล.ต.พบว่า ไม่มีการซื้อขายแบบสร้างราคา เช่น ไม่มีการซื้อขายแบะกระจุกตัว หรือซื้อจากรายใหญ่ สรุป ก.ล.ต. ตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อกล่าวหาทุกข้อหาไม่มีมูล
“ผมได้ยุติบทบาทการซื้อขายหุ้นตัวเองตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตรวจสอบได้จาก 2 บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มี คือ 1 บลจ.ภัทร และ 2 บลจ.บัวหลวง ให้ไปตรวจสอบทั้งผมและภรรยาได้เลย นอกจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิในบริษัทที่ถือหุ้นไว้บริษัทหนึ่งเท่านั้น” นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องบุหรี่ ภาษีท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บมวนละ 9.3 สตางค์ เป็นหน้าที่ตัวแทนที่ต้องจ่ายให้ยาสูบ แต่ต่อข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายภาษีครบถ้วนหรือไม่ สำหรับการซื้อขายผ่านโมเดริ์นเทรด ซึ่งก็เป็นห่วงเรื่องนี้ แต่กรมสรรพสามิตถือเป็นตัวกลางในการจัดเก็บภาษี ซึ่งหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของ ท้องถิ่น หรือ อบจ.ที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับกระทรวงการคลังซื่งเป็นส่วนกลาง
ส่วนกรณีที่ สหสามิตร ไปขายบุหรี่ต่างประเทศนั้น ตามสัญญาถือว่าทำไม่ได้ แต่สรรพสามิตรับจ่ายภาษีแทนห้างร้าน หรือปั๊มน้ำมัน ส่วนการขายบุหรี่นำเข้าเองไม่อยู่ในสัญญาที่ สรรพสามิต ดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ได้ให้นโยบายให้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบทบทวนเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่โมเดิร์นเทรดขายบุหรี่ต่างประเทศ น่าเป็นนโยบายของพาณิชย์ และในวันที่ 29 มี.ค.ทางกรมสรรพสามิตจะทบทวนนโยบายนี้ครั้งใหม่ เพื่อพิจารณาตามข้อสังเกตุของฝ่ายค้านต่อไป
ด้าน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมช.คลัง เคยที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบ ชี้แจงว่า สหสามิตรเป็นผู้รับโควตาบุหรี่ ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์หรือ ปชป.เข้ามาบริหาร ซึ่งอยู่ในสมัยของ พลเอก องอาจ ชัมพูทะ เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ส่วนเรื่องที่บุหรี่ไทยเสียภาษี บุหรี่นอกไม่เสียภาษีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตรวจสอบจากโรงงานยาสูบแล้ว พบว่า ไม่ว่าบุหรี่ไทยหรือนอกต้องเสียภาษีเหมือนกัน โดยสหสามิตร ต้องสำรองจ่ายภาษีให้ อบจ.ไปก่อน จ่ายเท่าไร แล้วมาเบิกจากโรงงานยาสูบ ซึ่งยากจึงคาบเกี่ยวกัน