xs
xsm
sm
md
lg

สับ“กรณ์”อุ้มภาษีเอกชน สูญพันล้าน-เปลี่ยนถล่ม“ปู่จิ้น”วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(16 มี.ค) ที่รัฐสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแลัรัฐมนตรี วันที่สอง เริ่มต้น 09.00 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เริ่มต้นการอภิปราย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มีความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเงินบาทและเงินเฟ้อ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดการร่ำรวยกระจุกตัวอยู่แต่กับคนบางกลุ่ม รวมถึงการตั้งงบประมาณที่ไม่เน้นการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันการลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญในการแข่งขัน รวมถึงเรื่องปัญหาค่าเงินบาท และเงินเฟ้อ โดยระบุว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการจงใจปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ด้วย
ยังอภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลในการออกสลากของศิริราชมูลนิธิ ที่ปรากฏว่ามีหนังสือปลอมที่มีเนื้อหาแปลกๆ ไปปรากฏภายในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จนศิริราชมูลนิธิต้องออกมาร้องเรียน
นายกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า การออกสลากการกุศลที่หน่วยงานขอมา จะต้องมีการเสนอโครงการอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการอะไรบ้าง ไม่ใช่เสนอมาลอยๆ เหมือนกับรัฐบาลในอดีต เมื่อมีการเสนอเข้ามาก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ ครม. และมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อใช้เงิน แต่ในอดีตการออกสลากการกุศลเป็นการออกลอยๆ เหมือนกับการจัดงบประมาณในอดีตที่ตั้งงบประมาณลอยๆ ไว้ให้นายกฯ มีข้อครหาเป็นข่าวอื้อฉาว จึงมีการเปลี่ยนแปลงการออกสลากการกุศล
การอภิปรายครั้งนี้ตนได้ถูกยื่นถอดถอนด้วย แต่เท่าที่ฟังการอภิปรายยังไม่พบว่ามีหลักฐานอะไรชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับการทุจริต จากนั้นได้ระบุว่า ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจน และไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม
ขณะที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงว่า สลากของมูลนิธิมิราเคิลฯ ยืนยันทางมูลนิธิพอใจกับการจัดระบบ และการจัดจำหน่าย ซึ่งไม่ได้ไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือขัดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ หากทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตนยินดีรับผิดชอบ ส่วนกรณีสลากของศิริราชมูลนิธิ ปรากฏว่ามีการนำเอกสารปลอมเข้ามา ทางกองสลากได้ถามไปยังศิริราชมูลนิธิ ซึ่งยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอมจริง โดยขณะนี้ให้ทางดีเอสไอดำเนินการอยู่

**ปูด“กรณ์”อุ้ม“สหสามิตร”
นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายนายกรณ์ ถึงการละเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทำให้รัฐสูญเสีรายได้จำนวนมาก ว่า ปกติตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ เวลาไปเบิกโควตาต้องจ่ายค่าภาษีบาปไว้กับโรงงานยาสูบ ทุกสิ้นเดือนทางโรงงานยาสูบ จะเขียนเช็คระบุว่า มอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือภาษี อบจ. ซึ่งแต่ละปีจะมีหลายพันล้านที่ อบจ.แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นกทม.จะได้รับเงินภาษีไปใช้จ่ายในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อปี 2541 ได้มีห้างชื่อ “สหสามิตร”เป็นผู้ขอเข้ามาทำสัญญาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ในเขต กทม.กับโรงงานยาสูบ โดยทำสัญญาเลขที่ 116/2541 ลงวันที่ 1 ต.ค. 41 ซึ่งสัญญามีอายุ 5 ปีโดยมีค่าตอบแทนเป็นการเช่าโกดังและลานจอดรถของโรงงานยาสูบที่จะได้รายได้1.4 ล้านบาทต่อปี และมีเงินตอบแทนต่างหากอีก 16.8 ล้านบาทต่อปี
ต่อมาเมื่อเดือน ก.พ.43 มีการเปลี่ยนสัญญาเงื่อนไขจากสัญญาอายุ 5 ปีก็เปลี่ยนเป็นสัญญาไม่มีวันหมดอายุ และเงินค่าตอบแทน 16.8 ล้านบาทก็หายไปไม่ต้องจ่าย ค่าเช่าโกดังลดลงเหลือเดือนละ 8.3 หมื่นบาท รวมภาษีแล้วปีหนึ่งได้ค่าเช่าเพียง 1.65 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่ตกลงไว้ครั้งแรก จึงกลายเป็นคำถามว่าเงิน 16.8 ล้านบาทหายไปไหน ค่าเช่าทำไมลดลง เพราะนี่คือการสูญเสียรายได้ของรัฐจึงขอตั้งข้อล่าวหารมว.การคลังละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ห้างสหสามิตรได้เบิกบุหรี่ไปขายยังจังหวัดต่างๆ โดยรุกล้ำเขตการค้าของตัวแทนรายอื่นๆ ที่ประจำในจังหวัดต่างๆ เกือบทุกจังหวัดที่มีห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ
นายประเกียรติกล่าวว่า แม้ทางโรงงานยาสูบจะมีระเบียบและข้อจำกัดว่าต้องป้องกันไม่ส่งเสริมให้บุหรี่ต่างประเทศมาเป็นคู่แข่งบุหรี่ในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปัญหาคือมีบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาขายแข่งขันในห้างสรรพสินค้า แต่ท่านไม่เคยรักษาผลประโยชน์ชาติปล่อยให้บุหรี่ต่างชาติมามีส่วนแบ่งการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ขอตั้งข้อสังเกตว่าการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศมาโดยไม่มีการเสียภาษี แต่บุหรี่ไทยกลับมีการเสียภาษี รมว.การคลังเคยเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏรายงานว่าได้เคยไปตรวจสอบ
ปัญหาเกิดขึ้นคือ หากห้าง “สหสามิตร” เอาบุหรี่ต่างประเทศไปขายถือว่าผิดระเบียบเงื่อนไขยาสูบกระทรวงการคลัง ที่มีโทษถึงขั้นต้องยกเลิกการเป็นตัวแทนทันที และยังได้เป็นผู้จัดแจงรับภาษีเสียภาษีอบจ.ทั้งหมด โดยปกติวิธีการของโรงงานยาสูบเมื่อถึงสิ้นเดือนจะจ่ายเงินภาษีให้ อบจ.แต่ละอบจ.โดยตรง แต่ในขณะนั้นได้มีการจ่ายให้กับตัวแทนของห้างสหสามิตร เพื่อนำไปจ่ายให้กับอบจ.แต่ละจังหวัดอีกทอดหนึ่งแทน อยากถามว่าเมื่อห้างสหสามิตรได้รับเช็คแล้วได้จ่ายไปยังอบจ.จริงหรือไม่ เพราะเมื่อมีการไปสุ่มตรวจตัวอย่างที่จ.ปทุมธานี ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนม.ค-ธ.ค.48 ห้างสหสามิตรจ่ายให้กับอบจ.ปทุมธานีไม่ครบเงินขาดไปกว่า 7.7 ล้านบาท อยากถามว่าเงินส่วนต่างนี้หายไปไหน เพราะต้องเป็นเงินของอบจ.แต่กลายเป็นว่าเงินมีการตกหล่นไปไม่ถึงมืออบจ.เรื่องดังกล่าวตนจึงไม่อาจจะไว้วางใจได้
นายกรณ์ ชี้แจงว่า ภาษีท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บมวนละ 9.3 สตางค์ เป็นหน้าที่ตัวแทนที่ต้องจ่ายให้ยาสูบ แต่ต่อข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายภาษีครบถ้วนหรือไม่ สำหรับการซื้อขายผ่านโมเดริ์นเทรด ซึ่งก็เป็นห่วงเรื่องนี้ แต่กรมสรรพสามิตถือเป็นตัวกลางในการจัดเก็บภาษี ซึ่งหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของ ท้องถิ่น หรือ อบจ.ที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับกระทรวงการคลังซื่งเป็นส่วนกลาง
ส่วนกรณีที่ “สหสามิต”ไปขายบุหรี่ต่างประเทศนั้น ตามสัญญาถือว่าทำไม่ได้ แต่สรรพสามิตรับจ่ายภาษีแทนห้างร้าน หรือปั้มน้ำมัน ส่วนการขายบุหรี่นำเข้าเองไม่อยู่ในสัญญาที่ สรรพสามิต ดำเนินการได้
อย่างไรก็ดี ได้ให้นโยบายให้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลังที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบทบทวนเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่โมเดิร์นเทรดขายบุหรี่ต่างประเทศ น่าเป็นนโยบายของพาณิชย์ และในวันที่ 29 มี.ค. ทางกรมสรรพสามิตจะทบทวนนโยบายนี้ครั้งใหม่ เพื่อพืจารณาตามข้อสังเกตุของฝ่ายค้านต่อไป
ด้านนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล สส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมช.คลัง เคยที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบ ชี้แจงว่า สหสามิตเป็นผู้รับโควต้าบุหรี่ ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์หรือ ปชป.เข้ามาบริหาร ซึ่งอยู่ในสมัยของ พลเอก องอาจ ชัมพูทะ เป็น ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ส่วนเรื่องที่บุหรี่ไทยเสียภาษี บุหรี่นอกไม่เสียภาษีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตรวจสอบจากโรงงานยาสูบแล้วพบว่า ไม่ว่าบุหรี่ไทยหรือนอกต้องเสียภาษีเหมือนกัน โดยสหสามิต ต้องสำรองจ่ายภาษีให้อบจ. ไปก่อน จ่ายเท่าไร แล้วมาเบิกจากโรงงานยาสูบ ซึ่งยากจึงคาบเกี่ยวกัน

**อัดกรณ์ละเว้นสอบปั่นหุ้นไทยคม
นายประเกียรติ ยังอภิปราย นายกรณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้นดาวเทียมไทยคม พบว่าในช่วงมิ.ย. 2553 มีการขึ้นลงของราคาหุ้นอย่างผิดปกติ เช่น วันที่ 10 มิ.ย.ราคาหุ้นอยู่ 5 บาท แต่ภายหลังที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะซื้อหุ้นดาวเทียมไทยคมปรากฏว่าระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย.ราคาหุ้นกระโดดไปอยู่ที่ 7.95 บาท ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้มีการซื้อหุ้นหรือกิจการดาวเทียมไทยคมอย่างจริงจังแต่ประการใด
ด้าน นายกรณ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในเดือน ธ.ค. 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 400 จุด แต่เพราะผลจากการบริหารนโยบายของรัฐบาลทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีกำไรมากที่สุดในประวัติศาตร์ ทำให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000 จุด
“ผมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาหลักทรัพย์ นั่นอาจเป็นเพราะผมอยู่ในวงการนี้ ถือว่าเป็นการดูถูกผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ และอาจเป็นเพราะพฤติกรรมที่พวกท่านคุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะ กลต. และ ตลท. มีความเข้มข้นในการตรวจสอบ ผมอยู่ในวงการนี้มา 19 ปี ขอยืนยันว่าไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่มีการซื้อขายหุ้นแบบผิดกฎหมาย ที่ทำให้ ก.ล.ต.มาสอบให้เสียเวลา”นายกรณ์กล่าวและว่า ที่ผ่านมานายกฯ มอบหมายให้ติดต่อไปยังผู้มีอำนาจสูงสูดของไทยคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของชินคอร์ป จึงเป็นเหตุให้ตนต้องเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อพบเทมาเส็กในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป เมื่อวันที่ 17 เม.ย 2553 และได้เชิญนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลาไปด้วย ทั้งนี้การที่ไปสิงคโปร์ เพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นได้ทราบว่า บริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่มีแนวทางการดำเนินงานขัดต่อการทำงานของประเทศ(กรณีคนเสื้อแดงบุกไทยคม) ผู้ถือหุ้นจึงแจ้งว่าจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของไทยคม
นอกจากนี้ยังได้สอบถามเรื่องความสนใจเรื่องหุ้น เพราะเมื่อปี 2549 เทมาเส็ก เคยแถลงว่าการเข้าไปซื้อหุ้นชินคอร์ป ทำให้เทมาเส็ก ได้หุ้นไอทีวีและไทยคมด้วย ซึ่งทางเทมาเส็กได้แจ้งกลต.ว่าต้องการสงวนสิทธิการซื้อหุ้นรายย่อย เพราะไม่ต้องการถือหุ้นไทยคม ดังนั้นจึงถามเทมาเส็กยังมีแนวคิดนี้อยู่หรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ ช่วงนั้นตนไม่ซื้อหุ้นไทยคม และชีวิตนี้ไม่เคยซื้อหุ้นไทยคม กลต. ตรวจแล้วพบว่าไม่มีใครได้กำไรจากกการปั่นหุ้นไทยคม ราคาหุ้นที่ขึ้นก็เพราะข่าวเรื่องการเจรจาระหสว้างรัฐบาลไทยกับเทมาเส็ก
ขณะที่ นายกรณ์ ได้เสนอรายงาน ก.ล.ต. ได้ข้อสรุปว่า ก.ล.ต.ไม่พบข้อบ่งชี้ ข่าวการเผยแพร่ข่าวของสื่อ ทำให้เกิดการปั่นราคาหลักทรัพย์ และผู้ที่ให้ข่าวนั้นไม่ใช่คนในรัฐบาล และคนให้ข่าว ก็เพื่อเป็นการตอบข้อซักถาม ไม่ใช่การเผยข่าวเท็จ
“ผมได้ยุติบทบาทการซื้อขายหุ้นตัวเองตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตรวจสอบได้จาก 2 บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีคือ 1 บลจ.ภัทร และ 2 บลจ.บัวหลวง ให้ไปตรวจสอบทั้งผมและภรรยาได้เลย นอกจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิในบริษัทที่ถือหุ้นไว้บริษัทหนึ่งเท่านั้น” นายกรณ์กล่าว

**ซัด “ซาเล้ง”ประมูลหัวรถจักรไม่ชอบ
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายโสภณ ซารัมย์ รมว. คมนาคม กรณี การจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 7 คัน ที่มี 2 บริษัทที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค คือ กับบริษัทล็อกซ์เล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี (แอลจีที) และ บริษัท จีซีเอส กรุป คอเปปรชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการพิจารณาทีโออาร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าคำนวนแรงต้านทานและ กำหนดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแบบกระแสสลับเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการล็อคสเปคให้บริษัทต้าเหลียนในประเทศจีนซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทล็อกซ์เลย์ฯ
โดยโครงการดังกล่าวมีมูล 1,050ล้านบาท โดยทั้ง 2 บริษัทเสนอราคาห่างกันเพียง 1% เท่านั้นโดยบริษัท จีซีเอส เสนอราคา 1,030 ล้านบาท ขณะที่บริษัทล็อกซ์เลย์ เสนอ 1,018 ล้านบาท ดูเหมือนว่าเป็นการตกลงกันไว้ก่อน และการประสานงานการจัดการเรื่องนี้ยังมีกลุ่มใกล้ชิดพรรคภูมิใจไทยเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวถูกสั่งให้มีการยกเลิกการประกวดราคาเพราะมีการร้องเรียน เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า นายโสภณ เป็นคนสั่งให้มีการยกเลิก เพื่อหนีการซักฟอก การบริหารราชการแบบนี้ไม่สามารถไว้วางใจให้เป็น รมว.คมนาคมต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคนใกล้ชิดมาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจมาแสวงหาประโยชน์ด้วย
ด้านนายโสภณ กล่าวชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวตนเองไม่ได้ดูรายละเอียดแบบนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตนเองมีหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้น ไม่สามารถแทรกแซงได้ และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และที่ยกเลิกการประกวดราคาเพราะมีการร้องเรียนว่าลอคสเปค ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะตรวจสอบอยู่แล้ว
“เรื่องนี้ รฟท.ประกาศร่างทีโออาร์จัดซื้อแบบอีอ๊อคชั่น แต่ปรากฎว่าไม่มีเอกชนรายใดผ่านการคัดเลือก เมื่อนำร่างทีโออาร์มาประกาศใหม่ในรอบที่ 3 ปรากฏว่ามีบริษัท สยามโบกี้ ซึ่งเป็นเอกชนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกยื่นคำร้องต่อศาลปกครองว่า มีการล๊อคสเป็ก ต่อมาศาลปกครองพิจารณายกคำร้อง ทางคณะกรรมการรฟท. จึงสั่งให้ยกเลิกการประกวดราคา เพราะได้พิจารณาถึงมติครม.ที่ให้เปิดประกาศประกวดราคาแบบกว้าง ฉะนั้น บอร์ดรฟท.จึงได้สั่งให้ประกาศประกวดราคาใหม่ตามมติครม.และสั่งให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รถไฟที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบว่ากระทำผิดหรือไม่อย่างไร” นายโสภณ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงค่ำได้มีการอภิปรายปัญหา 3 จี ของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที แทนการอภิปรายนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่วิปฝ่ายค้าน เปลี่ยนแปลงไปอภิปรายในเช้าวันที่ 17 มี.ค.แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น