xs
xsm
sm
md
lg

"อมตะ" รับแผ่นดินไหวลูกค้าญี่ปุ่นชะลอซื้อที่-เชื่อไม่กระทบยอดขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
"อมตะ" เผยลูกค้าญี่ปุ่นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางชะลอการเซ็นสัญญาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม หลังประเทศเกิดแผ่นดินไหวจนได้รับความเสียหายวงกว้าง แต่ในส่วนลูกค้ารายใหญ่ยังสนใจซื้อที่ดิน เชื่อไม่กระทบบริษัท เผยตั้งเป้าปีนี้ขายที่ดินทั้งสิ้น 1.5-1.8 พันไร่

วันนี้ (15 มี.ค.) นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีการเซ็นสัญญาซื้อที่ดิน ว่า ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ได้ชะลอการเซ็นสัญญาที่จะซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมออกไปอีก 1-2 เดือน แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังคงเดินหน้าเซ็นสัญญาซื้อที่ดินเหมือนเดิม

"ขณะนี้ลูกค้ารายใหญ่ ยังเดินหน้ามาเซ็นสัญญากับเรา แต่มีลูกค้าขนาดกลางและเล็ก เท่านั้นที่ขอชะลอออกไป 1-2 เดือน เพื่อรอให้เหตุการณ์ในญี่ปุ่นคลี่คลายไปมากกว่านี้ ซึ่งมองว่าไม่มีผลกระทบกับเรา"

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อ ยอดขายของบริษัทที่ตั้งเป้าไว้ 1.5-1.8 พันไร่ในปีนี้ เพราะลูกค้าขนาดใหญ่ยังคงที่จะ เดินหน้าเตรียมเซ็นสัญญากับบริษัทต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีเวลาเหลืออีก 9 เดือน ที่จะสามารถหาลูกค้า เพื่อขายที่ดินได้

ขณะที่มองว่า กรณีการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ญุ่ปุ่นครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นปัจจัย เร่งให้นักลงทุนญี่ปุ่น ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาไทยเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในไทย เอง ก็ยังมีเรื่องการเมืองในประเทศ ที่นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจ ดังนั้นครั้งนี้เป็น โอกาสของไทยแล้ว ก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาได้หรือไม่

"รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า และเชื่อว่าจะสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของญี่ปุ่นยังมีความแข็งแกร่ง และจะสามารถฟื้นฟูบูรณะประเทศได้อย่างรวดเร็ว"

สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นของนิคมอมตะ คิดเป็น 60% ของผู้ประกอบการทั้งหมด หรือ ประมาณ 300-400 โรงงาน ซึ่งขณะนี้โรงงานญี่ปุ่นที่อยู่ในนิคมฯ อยู่ระหว่างการติดต่อ ประสานงาน เพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังญี่ปุ่น ร่วมกับนิคมอมตะฯ

อนึ่ง ราคาหุ้น AMATA ลบ 2.76% มาที่ 14.10 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น