xs
xsm
sm
md
lg

PSรับขึ้นราคาบ้าน2-3% เน้นแนวราบ-โอดต้นทุนก่อสร้างขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พฤกษา” ปรับพอร์ตลงทุนปี 54 เน้นแนวราบวางแผนเปิด 78 โครงการมูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 4.2 หมื่นล้านบาท รับรู้รายได้ 32,000 ล้านบาท เผยแบล็กล็อคตุนในมือแล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่พรีคลาสโรงงาน 5 เริ่มเดินเครื่องผลิตฟุ้งใหญ่อันดับ 1 ของโลกกำลังการผลิตรวม 700 ยูนิต/เดือน ยอมรับต้นทุนก่อสร้างขึ้นจำเป็นต้องขึ้นราคาบ้าน 2-3%

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PSเปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2554 ว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 42,000 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 8% ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้ 38,800 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ไว้ที่ 32,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 53 ถึง 37% ที่คาดว่าจะมียอดรับรู้รายได้ประมาณ 24,000 ล้านบาท

“บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เนื่องจากขณะนี้มีแบล็กล็อค(ยอดขายที่รอรับรู้รายได้) อยู่ในมือแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทที่จะรับรู้ในปีนี้ เหลือรายได้อีกเพียง 1.4 หมื่นล้านบาทก็จะได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้” นายทองมากล่าว

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดโครงการใหม่รวม 78 โครงการมูลค่ารวมกว่า 54,000 ล้านบาท โดยให้น้ำหนักด้านการลงทุนในแนวราบมากขึ้น แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 42 โครงการ, บ้านเดี่ยว 17 โครงการ, คอนโดมิเนียม 15 โครงการ และโครงการในต่างประเทศอีก 4 โครงการ ปัจุบันซื้อที่ดินเข้ามาแล้ว 51 โครงการ ทั้งนี้ การลงทุนของพฤกษาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาและนับจากนี้ไปนอกจาการลงทุนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ยังเน้นขยายการลงทุนไปสู่งต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายฐานของลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการขยายการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย

โดยที่ผ่านมาพฤกษาได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนบ้านสำเร็จรูปหรือโรงงานพรีคลาสโรง 5 ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบเดินเครื่องผลิตและเริ่มใช้งานจริง ซึ่งเมื่อรวมกับโรงงานที่ 1 แล้วจะทำให้มีกำลังการผลิตบ้านเดี่ยวประมาณ 700 ยูนิต/เดือน ในขณะที่โรงงานที่ 2 จะผลิตรั้งสำเร็จรูปและโรงงานที่ 3 ผลิตชิ้นส่วนพิเศษ ทำให้บริษัทสามารถสร้างบ้านจนถึงส่งมอบได้ภายในระยะเวลา 100 วัน/หลัง จากเดิม 115 วัน/หลังในปัจจุบันโรงงานพรีคลาสของพฤกษาใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก

นายทองมากล่าวว่า นอกจากนี้มีแผนที่จะขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อออกหุ้นกู้อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนและจัดซื้อที่ดิน คาดว่าจะออกได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2254 ทั้งนี้หลังออกหุ้นกู้ดังกล่าวแล้วจะทำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 : 1 ทั้งนี้ในปีนี้บริษัทจะใช้งบเพื่อจัดซื้อที่ดินประมาณ 13,000 ล้านบาท และนำเงินมาพัฒนาโครงการหรือก่อสร้างประมาณ 18,000 ล้านบาท

**อสังหาฯปี53ยอดขายแตะ2.5แสนล้าน**
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษากล่าวว่า ภาพรวมอสังหาฯในปี 2553 นั้นคาดว่าทั้งปีน่าจะมีการขายสินค้าได้มูลค่ารวมประมาณ 250,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2552 ประมาณ 30% โดยราคาเฉลี่ยบ้านของทั้งอุตสาหกรรมกรรมอยู่ที่ 2.63 ล้านบาทต่อยูนิต จากที่ปี 2552 ราคาบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 2.96 ล้านบาท สาเหตุที่ราคาเฉลี่ยบ้านปรับลดลงนั้นเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาพัฒนาสินค้าในตลาดกลาง-ล่างมากขึ้น และเชื่อว่าในปีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะลงมาแข่งขันในตลาดกลาง-ล่างมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ทั้งคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว เพราะเป็นกลุ่มที่เป็นตลาดใหญ่ประมาณ 70% ของอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตลาดบนเริ่มมีความต้องการลดลง เพราะมีการซื้อกันไปจำนวนมากแล้ว

**ยอมรับปรับขึ้นราคาบ้าน2-3%ตามต้นทุน
ด้านนายสมบูรณ์ วศินชัชวาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท พฤกษาฯ กล่าวว่า กรณีต้นทุนค่าก่อสร้างปรับขึ้นนั้น บริษัทได้บริหารความเสี่ยงด้วยการประมูลซื้อวัสดุล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งพอดีกับระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านแนวราบ ขณะที่วัสดุบางประเภท เช่น ปูนซิเมนต์ จะล็อกราคานาน 1 ปี แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมาราคาปูนซิเมนต์ปรับขึ้นกว่า 20% ทางปูนซีเมนต์ไทยจึงขอเจรจาปรับขึ่นราคา ซึ่งบริษัทก็ต้องเห็นใจและได้ปรับขึ้นให้ 4-5% ในส่วนที่ได้มีการเจรจาซื้อล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนปูนซิเมนต์ที่จะซื้อในปีนี้จะต้องเจรจาในในเรื่องราคาใหม่อีกครั้ง สำหรับเหล็กบริษัทได้ซื้อสต๊อกไว้ล่วงหน้า 12 เดือน ซึ่งราคาเหล็กก็เป็นวัสดุอีกประเภทที่มีการปรับขึ้นราคามาก อย่างไรก็ตามกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ส่งผลดีให้ราคาที่ซื้อในตลาดลดลง

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนค่าแรงที่ปรับขึ้นอีกด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้นประมาณ 5-7% ส่งผลให้บริษัทมีการปรับขึ้นราคาบ้านประมาณ 2-3% ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การที่งานก่อสร้างบ้านของบริษัทมีความรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 3 เดือนจึงทำให้บริษัทสามารถบริหารในเรื่องของต้นทุนและราคาขายได้อย่างเหมาะสม

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทขาดทุนทางบัญชีเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 20% จากเงินลงทุน 650ล้านบาท หรือประมาณ 30-40 ล้านบาท โดยเวียดนามมีปัญหามากที่สุดเพราะค่าเงินผูกติดกับเงินดอลลาห์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนของบริษัทเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนต่อเนื่องจึงไม่จำเป็นต้องแลกเงินเพื่อนำกลับประเทศ แต่ยอมรับว่าการดำเนินงานล้าช้ากว่าแผนที่วางเอาไว้ เนื่องจากความล่าช้าในขั้นตอนของกฎหมายและการขอใบอนุญาต ซึ่งเวียดนามเองอยู่ในขั้นตอนของการเวนคืนที่ดิน ส่วนอินเดียอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างบ้านตัวอย่าง ขณะที่มัลดีฟนั้นเป็นการลงทุนในโครงการของรัฐบาลเองทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ส่วนแผนการลงทุนนั้นยังคงไว้ที่ประเทศละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นเดิม

สำหรับกรณียอดรีเชลล์ของบริษัทมีประมาณ 20% โดย 10% เป็นการถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ส่วนอีก 10 ลูกค้าไม่รับโอนบ้านเอง และเมื่อแยกเป็นประเภทกลับพบว่าลูกค้าที่ไม่ยอมรับโอนบ้านมากที่สุดคือ ทาวน์เฮาส์ ถึง 15% บ้านเดี่ยว 5% และคอนโดฯ 5% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารให้วงเงินสินเชื่อต่ำ ทำให้ลูกค้าต้องหาเงินวางดาวน์มากขึ้น หรือต้องผ่อนสินเชื่อสูงขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของลูกค้าในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น