xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จับตาผู้ประกอบการแห่ลงทุนนอก เผยแบบคำขอโยกเงินออกยาวเป็นหางว่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติพอใจ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย เงินทุนไหลเข้ายังปกติ แนะจับตาผู้ประกอบการไทยปี 54 แห่ลงทุนต่างประเทศ เผยแบบคำขอเงินออกนอกยาวเป็นหางว่าว ด้านไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย จัดแคมเปญฝากประจำ 15 เดือน แสนบาทขึ้นไปได้ดอกเบี้ย 2.80%

วานนี้ (10 มี.ค.) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก เนื่องจากตลาดได้รับรู้ข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นไปอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ก็มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ทำให้ไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ฉะนั้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะดึงดูดเงินทุนไหลเข้า

ทั้งนี้ เม็ดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งจากแหล่งนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติในปีนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยนักลงทุนไทยมีแรงกดดันค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยลงกว่าปี 53 กล่าวคือ นักลงทุนไทยมีแผนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยหากเทียบเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยเดือนต่อเดือนของปี 54 กับปี 53 ที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าในปีนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยที่ยื่นคำขอนำเงินไป ลงทุนในต่างประเทศ จนถึงสิ้นปี 54 ยังเห็นคำขอนำเงินออก ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก โดยมีทั้งการขอลงทุนใหม่ และการขอลงทุนซึ่งเป็นแผนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ส่งออกไทยเร่งขายเงินดอลลาร์ออกมาในตลาดล่วงหน้ามากขึ้น แต่ค่าเงินบาทได้ถูกปรับสมดุลด้วยการซื้อทันทีที่มากขึ้นของผู้นำเข้าไทย ขณะเดียวกัน การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เคยเกินดุลจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นเม็ดเงินที่กดดันค่าบาทแข็งขึ้นมากที่สุด ธปท.คาดการณ์ว่า การเกินดุลเหล่านี้จะลดลง

สำหรับในส่วนของนักลงทุนต่างชาติเองมีแรงกดดันที่มีแนวโน้มผันผวนและมีผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวเป็น 2 ทิศทางมากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า นักลงทุนต่างชาติไม่ได้นำเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้ เพียงแต่ต่ออายุพันธบัตรที่ถืออยู่เดิมต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนเป็นเงินไหลออกสุทธิ แต่นักลงทุนต่างประเทศกลับหันมาทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทมากขึ้น ทำให้ล่าสุดมีสัดส่วนสูงถึง 25% ของเงินที่ลงทุนในไทยทั้งหมด เนื่องจากมองทิศทางค่าเงินบาทว่าอาจจะไม่แข็งค่าต่อเนื่อง

“ค่าเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรก มีทั้งแข็งค่าขึ้น และอ่อนค่าลง แสดงให้เห็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุน และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และการเคลื่อนไหว 2 ทางจะยังคงเป็นไปทั้งปีนี้ คาดเดาได้ยาก ทำให้ผู้ที่มีภาระเงินตราต่างประเทศควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้นำเข้าที่มีอัตราป้องกันความเสี่ยงในระดับที่ต่ำอยู่”

ด้าน น.ส.วงษ์วธู ไพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ธปท.จะออกพันธบัตร ธปท.ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อายุ 2 ปี ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 3 เดือน จำนวน 15,000 ล้านบาท และจะทยอยออกเพิ่ม (Reopen) ทุก 2 เดือน เพื่อให้แต่ละรุ่นมีขนาดและสภาพคล่องที่เหมาะสมจึงเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่นักลงทุนและช่วยให้ ธปท.มีเครื่องมือหนึ่งในการบริหารสภาพคล่อง

**แบงก์ใหญ่ทยอยปรับดอกเบี้ย**
หลังธนาคารกรุงเทพ (BBL) และกสิกรไทย (KBANK) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม กนง.เมื่อวันก่อน เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารได้พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินให้สินเชื่อ โดยปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 0.10-0.25% ต่อปี ตามวงเงินและระยะเวลาการฝาก ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยข้างต้นมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 นี้

ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เป็น 0.75% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.25%-1.50% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือนเป็น 1.60%-1.80% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.85%-2.00% ต่อปี และเงินฝากประจำระยะยาว 24 เดือนปรับเป็น 2.40%-2.85%ต่อปี และ 36 เดือน ปรับเป็น 3.00%-3.10% ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ปรับเป็น 6.625% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MOR เป็น 6.875% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MRR เป็น 7.300% ต่อปีตามลำดับ

***ฝาก 15 เดือนแสนบาทได้ดอกเบี้ย 2.8%
พร้อมกันนี้ ธนาคารจัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมการออมแก่ลูกค้าด้วยบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ 15 เดือน โดยเริ่มต้นเงินฝากขั้นต่ำเพียง 100,000 บาท และลูกค้าได้รับผลตอบแทน 2.80% ต่อปี แคมเปญนี้เริ่มตั้งแต่วันนี้ - 30 เมษายน 2554

ด้าน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากมีผลตั้งแต่วันนี้ (11 มี.ค.) เช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้น 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ปรับขึ้นจาก 6.625% เป็น 6.875% เงินกู้ MLR ปรับขึ้นจาก 6.375% เป็น 6.625% และ เงินกู้ MRR จาก 7.10% เป็น 7.350% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะปรับขึ้นจาก 0.625% เป็น 0.75% ขณะที่เงินฝากประจำ 3 เดือน จาก 1.20% เป็น 1.375-1.50% เงินฝากประจำ 6 เดือน ปรับขึ้นจาก 1.65% เป็น 1.85%. เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.10%-0.20% ต่อปี เป็น 1.90% - 2.0% ประเภท 24 เดือน ปรับขึ้น 0.1% เป็น 2.75% และประเภท 36 เดือน ปรับขึ้น 0.1% ต่อปี เป็น 3%

ขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตั้งแต่ 0.13% - 0.55% และเงินกู้ 0.25% ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป โดยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับลูกค้าทั่วไป และลูกค้าองค์กร/ สถาบัน เพิ่มขึ้น จาก 0.62% เป็น 0.75% เงินฝากประจำทั่วไปประเภท 3, 6, 12 เดือน ปรับเพิ่ม 0.25% โดย ประเภท 3 เดือน จาก 1.25% เป็น 1.50%, ประเภท 6 เดือน จาก 1.50% เป็น 1.75% และประเภท 12 เดือน จาก 1.75% เป็น 2.00% สำหรับเงินฝากประจำประเภท 24 เดือน ปรับเพิ่ม 0.40% จาก 2.50% เป็น 2.90% เงินฝากประจำประเภท 36 เดือน ปรับเพิ่ม 0.55% จาก 2.75% เป็น 3.30% และเงินฝากประจำ TMB ดอกเบี้ยด่วน 3 เดือน ปรับเพิ่ม 0.20% จาก 1.80% เป็น 2.00%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีการปรับเพิ่มดังนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เพิ่มจาก 6.75% เป็น 7%, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ปรับเพิ่ม จาก 7% เป็น 7.25% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ปรับเพิ่มจาก 7.375% เป็น 7.625% และ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อบุคคล (CPR) คงเดิม ที่ 18%

**ทิสโก้ขึ้นดอกฝากประจำ-บีอี**
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอีก 0.25% ส่งผลให้เงินฝากประจำระยะเวลาตั้งแต่ 1-36 เดือน ปรับขึ้นจาก 1.65 - 2.75% เป็น 1.90 - 3.00% ต่อปี ขณะที่เงินฝากประจำเมื่อทวงถาม ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี ธนาคารยังได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงิน (บีอี) ขึ้นอีก 0.25% โดยตั๋วแลกเงิน วงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาท ระยะเวลา 1-12 เดือน ปรับขึ้นจาก 1.90-2.25% เป็น 2.15% - 2.50% ต่อปี ตั๋วแลกเงินเมื่อทวงถาม สำหรับวงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาท ปรับขึ้นจาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และตั๋วแลกเงิน วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 1 เดือน ถึง 42 เดือน ปรับขึ้นจาก 1.90-3.25% เป็น 2.15% - 3.50% ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (10 มี.ค.) เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น