xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นดบ.0.25% รับมือเงินเฟ้อ แบงก์ปรับตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.5% ระบุราคาน้ำมันพุ่งจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ยอมรับระยะถัดไปอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หลังเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเลือกตั้งใหม่ และเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม ผู้ประกอบการโวยแบงก์ชาติอย่าตั้งธงขึ้นดอกเบี้ยก่อน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้ง 2 ของปี เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือจาก 2.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน แต่ไม่มีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออก การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนยังขยายตัวดีและมีแนวโน้มที่ดี

"ราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูดในขณะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่ลุกลามและต่อไปราคาน้ำมันตลาดโลกจะทยอยปรับลงมาในระดับที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่วนใหญ่ยังเกิดจากปัจจัยพื้นฐาน คือความต้องการใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงขึ้น จึงไม่เป็นอุปสรรคในการขยายตัวเศรษฐกิจไทย"

ปัจจุบันแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกว่าการประชุมครั้งก่อน ทำให้มีการปรับสมมติฐานค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดูไบใหม่ในปี 54 เป็น 98.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิม 91.3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และในปี 55 ค่าเฉลี่ยปรับอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน ทำให้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับมาอยู่ที่ระดับ 3-5% เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ถือเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงยังอยู่ภายใต้กรอบประมาณการเดิมที่ระดับ 2-3%

มีโอกาสขยับดอกเบี้ยมากกว่า0.25%

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้พุ่งกระฉูดเหมือนกับปี 50-51 ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและที่ผ่านมา กนง.มีการส่งสัญญาณต่อเนื่องและตลาดปรับตัวได้ แต่หากในอนาคตสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสม

“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงติดลบ 1% หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ซึ่งการติดลบยังอยู่กับเราอีก 1-2 ครั้ง ทำให้ความจำเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับปกติยังคงดำเนินต่อไป และคณะกรรมการฯ บางท่าน มองว่าในวันข้างหน้าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ทั้งจากกรณีที่ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะเกิดการเลือกตั้งทางการเมืองใหม่ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องและใกล้เต็มศักยภาพ ทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นและมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าอยู่ในช่วงไตรมาส 3-4 ฉะนั้นความจำเป็นการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ก็มีความเป็นไปได้”

นอกจากนี้ กรณีที่ภาครัฐจะเลิกอุดหนุนน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย.และกระทรวงพาณิชย์อาจเลิกคุมราคาสินค้าบางรายการในเดือนมี.ค.นั้น ทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้อีก

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และเท่าที่สำรวจตลาด พบว่า ธนาคารพาณิชย์ก็มีการปรับตัวค่อนข้างเร็ว

แบงก์ขยับดบ.มีผลวันนี้

เย็นวานนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ด้าน โดยด้านเงินฝากปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.375%

เงินฝากสะสมทรัพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร จาก 0.625% เป็น 0.75% เงินฝากสะสมทรัพย์ สำหรับนิติบุคคลอื่นๆ จาก 0.50% เป็น 0.625% เงินฝากประจำ 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน จาก 1.25% เป็น 1.25 - 1.625 % เงินฝากประจำ 3 เดือน จาก 1.250% เป็น 1.375-1.50% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.375-1.50% เป็น 1.625-1.875% เงินฝากประจำ 12 เดือน จาก 1.375-1.75% เป็น 1.875-2% เงินฝากประจำ 24 เดือน จาก 2-2.5% เป็น 2.25 - 2.75% เงินฝากประจำ 36 เดือน จาก 2.25-2.50% เป็น 2.50 - 2.75% ด้านอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงินระยะเวลา 3 เดือน จาก 1.625% เป็น 1.75- 1.875% ตั๋วแลกเงินระยะเวลา 6 เดือน จาก 1.75% เป็น 1.875- 2% ตั๋วแลกเงินระยะเวลา 12 เดือน จาก 2% เป็น 2.125 - 2.25%

สำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 6.375% เป็น 6.625% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.625% เป็น 6.875% และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 7% เป็น 7.25% โดยทั้งหมดมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2554

ด้านนายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบรับนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขัน ธนาคารจึงได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้น 0.13% จาก 0.62% เป็น 0.75% ด้านเงินฝากประจำ 3 เดือน ปรับขึ้น 0.15%-0.20% เป็น 1.25%-1.50% เงินฝากประจำ 6 เดือน ปรับขึ้น 0.20%-0.25% เป็น 1.60%-1.90% เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20%-0.25% เป็น 1.85%-2% เงินฝากประจำ 24 เดือน ปรับขึ้น 0.05%-0.15% เป็น 2.30%-2.85% และเงินฝากประจำ 36 เดือน ปรับขึ้น 0.15% เป็น 2.65%-3%

ทั้งนี้ ธนาคารยังได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงิน 0.20%-0.35% โดยอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงินอายุ 1 เดือน อยู่ที่ 1.60% ตั๋วแลกเงินอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 1.70%-1.85% ตั๋วแลกเงินอายุ 6 เดือน อยู่ที่ 1.85%-2%และตั๋วแลกเงินอายุ 12 เดือน อยู่ที่ 2.15%-2.25%

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ย MLR ปรับจาก 6.37% เป็น 6.62% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ปรับจาก เป็น 6.63% เป็น 6.88% และอัตราดอกเบี้ย MRR จาก 7.10% เป็น 7.35% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2554 เช่นกัน

ส.อ.ท.โวยอย่าตั้งธงขึ้นดอกเบี้ย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ต้องการให้การขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้งเป็นการตั้งธงและส่งสัญญาณล่วงหน้าไว้ควรพิจารณาจากข้อเท็จจริงให้รอบคอบ และท้ายสุดแล้วก็จะกระทบต่อราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

“เวลานี้สิ่งที่กังวลมากสุดคือต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนการเมืองยังไม่กระทบต่อภาคธุรกิจมากนักเว้นแต่อาจจะบานปลาย อาจกระทบท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามหากมีการยุบสภาเร็วๆ นี้คงไม่ได้ผิดคาดอะไรมากนัก”

ภาคอสังหาฯ ชี้ขึ้นน้อยกว่าคาด

นายดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ของกนง. นั้นไม่ได้สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ประกอบธุระกิจต่างๆ เนื่องจากได้มีการประเมินแล้วว่า ปีนี้ปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 2% แม้ว่าก่อนหน้านี้สถาบันการเงินจะออกมาประมาณการว่า ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นระหว่าง 0.75%-1% ไม่เกินจากนี้ แต่ในความเห็นของผู้ประกอบธุรกิจนั้นมองว่าน่าจะขึ้นได้สูงสุดถึง2%
"ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ประกอบการ เพียงแค่ครั้งนี้ อาจจะต่ำกว่าประมาณการของผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งในความเห็นแล้ว กนง.น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 0.5% ผลดังกล่าว จะไม่กระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าในตลาดกลางและบน หรือลูกค้าเกรดบีขึ้นไป แต่จะส่งผลกระทบกับลูกค้าในกลุ่มซี”

นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า แม้ว่าตลาดจะมีปัจจัยลบจากภาวะสินค้าราคาแพง ราคาน้ำมัน ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อรวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คาดว่าทั้งปีจะปรับขึ้นประมาณ 1% และทุกๆ 1% จะทำให้กำลังซื้อลดลง 8% แต่ตราบใดที่ภาวะเศรษฐกิจดี การส่งออกโต เงินบาทไม่แข็งค่า จีดีพีเติบโต ก็เชื่อว่าผู้บริโภคจะยังมีความเชื่อมั่นและยังซื้อที่อยู่อาศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น