xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนโวย! ดบ.ขึ้น 0.25% ตั้งธงไว้แล้ว ผวาซ้ำเติมต้นทุนการผลิตพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามคาด! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% หรือติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% อ้างเงินเฟ้อกดดัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แน่นอน ดอกเบี้ยยังขึ้นได้อีก ค่ายบัวหลวง (BBL) เสือปืนไว ขยับดอกเบี้ยทั้งสองขามีผลแล้ววันนี้ ด้าน ธอส.ถอดใจ หลังประกาศตรึง แต่ล่าสุดไม่ไหวเรียกประชุมด่วน ภาคเอกชนโวยซ้ำเติม!

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปีนี้ โดยประเมินว่าแรงส่งการขยายตัวเศรษฐกิจปี 54 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องและล่าสุดเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 จากอุปสงค์ในและต่างประเทศเป็นสำคัญ แต่แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้นและระยะต่อไปมีโอกาสสูงขึ้นอีก จึงมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 2.00% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

“แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในกระบวนการเข้าสู่ระดับปกติต่อไป โดยพันธะกิจหลักของ กนง.และ ธปท.คือ รักษาเสถียรภาพการเงิน โดยเสถียรภาพด้านราคาจะมีแรงกดดันดานเงินเฟ้อมีมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนความเสี่ยงเสถียรภาพจากปัญหาฟองสบู่ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งจากปัจจัยนอกและในประเทศ และที่สำคัญ ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าบางประเภทปรับราคาค่อนข้างเร็วและมาก นอกจากนี้จากการสำรวจผู้บริโภคและภาคธุรกิจ พบว่า ความกังวลด้านราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นทุน อีกทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิ แรงกระตุ้นด้านการคลัง และมาตรการใหม่ๆ ของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ กรรมการของ กนง.บางคนยังยกเหตุผลความกังวลที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ แม้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้แล้ว โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงติดลบ 0.95% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนแท้จริงติดลบ 1.6% ถือเป็นความเสี่ยงที่จะบิดเบือนกลไกตลาดและไม่ส่งเสริมการออม ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัวและแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้อีก

อย่างไรก็ตาม มองว่า การกำหนดเป้าหมายล่วงหน้าให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวกไม่ควรกำหนดเป้าหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น โดยเฉพาะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การขยายตัวเศรษฐกิจ ความเสี่ยงและเสถียรภาพมากกว่า

สำหรับนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลทั้ง 9 ข้อนั้น ขนาดเม็ดเงินไม่มาก จึงเป็นเพียงปัจจัยเสริมส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก โดยประเมินว่ารัฐบาลจะคำนึงภาระการคลังในระยะต่อไป ประสิทธิภาพในการใช้เม็ดเงินให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีรากฐานที่ดีขึ้นกว่าเดิม และหากจัดการเลือกตั้งในปีนี้ก็จะช่วยให้มีเงินสะพัดมากขึ้น

เงินทุนผันผวนเป็น 2 ทิศมากขึ้น

ในที่ประชุมยังมีการประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทโดยรวมของปีนี้ โดยมองว่านอกจากการเติบโตเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายกรเงินแตกต่างกันอาจผลักดันให้เงินทุนไหลไปทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และปีนี้จะมีความแตกต่างเพิ่มเติม คือ ความผันผวนการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีมากขึ้น จากเดิมเงินทุนทะลักเข้ามา แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่น และยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น (Risk Appetite) อาจมีผลให้เงินทุนอาจกลับทิศทางได้เหมือนกัน

“เงินทุนอาจกลับทิศทางได้เห็นได้จากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ที่เงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต่อไปเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวไปด้านแข็งหรืออ่อนในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตลอดไป แต่จะมีทั้งแข็งค่าหรืออ่อนค่าได้” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวได้ดีช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยควรบรรเทาความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Hedge) ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกมีการซื้อสัญญาดังกล่าวมากถึง 50% ขณะที่ผู้นำเข้ามีสัดส่วนการทำลดลงเหลือไม่ถึง 20%

เชื่อลูกค้าแบงก์ปรับตัวได้

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการได้คำนึงถึงภาระการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคารพาณิชย์เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะปรับขึ้นหรือลดลงต่างมีทั้งคนที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ ฉะนั้น เหตุผลหนึ่ง ธปท.จะพยายามส่งสัญญาณข้างหน้า ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้ดี เช่น ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านราคาแพง เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อาจลดราคาบ้านลงมาได้ เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระ

ส.อ.ท.จวก กนง.มีการตั้งธงไว้แล้ว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่เห็นด้วย เนื่องจากภาคธุรกิจเผชิญกับปัจจัยหลายด้านอยู่แล้วทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาค่าเงินที่ผันผวน ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นการซ้ำเติมต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“การขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้ง เหมือนกับมีการตั้งธงไว้แล้วว่าจะขึ้น ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะหากดูในตอนนี้ยังไม่ควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอนเพราะเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะรัฐบาลเดินหน้าคุมราคาสินค้าเกินกว่าเหตุ” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

บัวหลวงนำร่องปรับดอกเบี้ยฝาก-กู้

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ด้าน โดยด้านเงินฝาก ทั้งประเภทสะสมทรัพย์ และประจำ ได้มีการประกาศปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.375% โดยเงินฝากสะสมทรัพย์

สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร จาก 0.500% เป็น 0.625% เงินฝากสะสมทรัพย์ สำหรับนิติบุคคลอื่นๆ จาก 0.250% เป็น 0.500% เงินฝากประจำ 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน จาก 1.000% เป็น 1.250% เงินฝากประจำ 3 เดือน จาก 1.000-1.250% เป็น 1.250-1.375% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.000-1.500% เป็น 1.375-1.625% เงินฝากประจำ 12 เดือน จาก 1.375-1.625% เป็น 1.375-1.750% เงินฝากประจำ 24 เดือน คงเดิมที่ 2.000-2.500% เงินฝากประจำ 36 เดือน คงเดิมที่ 2.250-2.500% ด้านอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงินระยะเวลา 3 เดือน จาก 1.500% เป็น 1.625% ตั๋วแลกเงินระยะเวลา 6 เดือน จาก 1.625% เป็น 1.750% ตั๋วแลกเงินระยะเวลา 12 เดือน จาก 1.875% เป็น 2.000%

สำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR จาก 6.125% เป็น 6.375% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR จาก 6.375% เป็น 6.625% และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR จาก 6.625% เป็น 7.000% โดยทั้งหมดมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันนี้ (13 ม.ค.)

ธอส.ฝ่อ! เรียกประชุมฯ ปรับขึ้น

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการธนาคารธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า วันที่ 17 มกราคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการหนี้สินและทรัพย์สินของธนาคาเรพื่อพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยหลังจาก กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จึงต้องพิจารณาตามภาวะตลาดซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกระลอกอย่างแน่นอน

หาก ธอส.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามตลาดก็อาจจะปรับขึ้นในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากก่อนเพื่อรักษาเงินฝากไม่ให้ไหลไปยังธนาคารอื่น หรืออาจพิจารณาปรับขึ้นในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ควบคู่ไปด้วย และคงไม่เกิน 0.25% เพราะก่อนหน้านี้ ธอส.ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้มาค่อนข้างนานตามนโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะเป็นแบงก์สุดท้ายที่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้
กำลังโหลดความคิดเห็น