xs
xsm
sm
md
lg

จับตา กนง.ขยับ ดบ. 0.25% วันนี้ “อุ๋ย” ห่วงต้นทุนพุ่ง-ศก.ฟื้นไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่งสัญญาณ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ผู้ว่าการ ธปท.มอง ยังต้องรับมือค่าเงินผันผวนจากทุนไหลเข้า เตรียมแผนระยะยาวรองรับ “หม่อมอุ๋ย” ชี้ เงินเฟ้อยังไม่เป็นปัญหา เตือนเร่งขึ้นดอกเบี้ยต้องระวัง เพราะเศรษฐกิจฟื้นไม่ชัด หวั่นเป็นการเพิ่มต้นทุนธุรกิจรายเล็ก “ฉลองภพ” แนะให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยทีละน้อย หนุนควบคุมทุนไหลเข้าแบบค่อยเป็นค่อยไป “ศุภวุฒิ” ให้น้ำหนักที่ราคาน้ำมันดันต้นทุนแพง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะพยายามรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 0.5-3.0% โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากด้านซัปพลายเท่านั้น แต่มีปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดี

ขณะเดียวกัน จะพยายามสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจเพื่อลดการคาดการณ์ว่าต้นทุนสินค้าจะเร่งสูงขึ้นด้วย ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 9 มีนาคม 2554 (วันนี้) จะพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจัยรอบด้าน

นายประสาร ยังระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ามาประเทศในเอเชียจำนวนมาก รวมทั้งไทย โดยปีนี้และปีหน้าก็มองว่ายังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่อง แม้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะมีการเทขายหุ้นทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติออกไปบ้าง แต่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีเงินไหลเข้ามาลงทุน

“แม้ทั้งปีจะมีเงินไหลเข้ามาในไทยสุทธิแต่ระหว่างทางจะยังมีความผันผวนอยู่บ้าง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง และของไทยยังพ่วงด้วยการเมืองในประเทศ ทำให้แบงก์ชาติต้องเตรียมพร้อมรับความผันผวนนอกเหนือจากมาตรการระยะสั้นที่ดำเนินการไปแล้ว”

ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะประสานความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือถึงการสร้างสกุลเงินใหม่ในอาเซียน หรือใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เท่าที่ติดตามเห็นว่ายังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในขณะนี้ เพราะยังติดปัญหาหลายประการ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดูแลค่าเงินบาทในระยะต่อไปต้องไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและเป็นคู่แข่งกัน เรื่องของค่าเงินจะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบกัน ส่วนระยะยาวต้องมีความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

สำหรับปัญหาอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ระดับเงินเฟ้อของไทยไม่ถือว่า เป็นระดับที่สูงมาก และเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากราคา ไม่ใช่ความต้องการ หรือดีมานด์ ฉะนั้น หากใช้อัตราดอกเบี้ยไปกด ก็จะมีปัญหา

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การดูแลค่าเงินต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% ส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาคมองว่าไม่ควรให้ความสำคัญกับเงินดอลลาร์สหรัฐมากจนเกินไป และความผันผวนของค่าเงินจะเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ จึงอยากให้แต่ละประเทศมีเป้าหมายเงินเฟ้อใกล้เคียงกันเพื่อให้การดูแลค่าเงินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่สิ่งที่ยังขาดขณะนี้ คือ กลไกความร่วมมือของประเทศต่างๆ

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ค่าเงินไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากอย่างที่คิด เพราะภาคเอกชนมีการปรับตัวมาตลอด แต่มาตรการที่ใช้เป็นเพียงการดูแลค่าเงินในระยะสั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถาวร จึงต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง ยาวมาดูแล ส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาคมองว่าเกิดขึ้นได้ยาก

พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ว่า จะมาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะฤดูการหาเสียง ทำให้กำลังเงินที่ใช้มีส่วนกระตุ้น ในแง่นี้ก็มองได้ว่า ไม่ได้มาจากต้นทุนสินค้าอย่างเดียว ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ผู้ประกอบการโดยรวมได้รับผลกระทบได้ โดยในระยะยาวจำเป็นต้องรักษาระดับเงินเฟ้อ แต่ต้องทำล่วงหน้า และควรเลี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยคราวละมากๆ แต่ควรทำทีละน้อยๆ ซึ่งการประชุม กนง.ครั้งนี้ มองว่า ขึ้น 0.25% ก็ถือว่า แย่แล้ว ควรขึ้นแค่ 0.10% ก็พอ

ขณะที่ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ภัทร กล่าวว่า คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 9 มีนาคมนี้ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นมากยิ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น อาจจะทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ทำให้ บล.ภัทร จะมีการทบทวนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปี 2554 ใหม่โดยมองว่าหากราคาน้ำมันสูงไปถึง 140-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะเป็นระดับที่สร้างปัญหาต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น