xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อลามศก. จับตาราคาน้ำมันพุ่งเกิน 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เล็งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 9 มี.ค.นี้ หวังสกัดเงินเฟ้อไม่ให้เกิดรอบ 2 เป็นลูกโซ่ และไม่ให้กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไป พบผลสำรวจผู้ประกอบการคาดการณ์เงินเฟ้อข้างหน้าพุ่งสูงถึง 4-6% จากปัจจุบัน ระบุหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หากแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติยังคงดำเนินต่อไป และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 9 มี.ค.นี้จะนำปัจจัยสำคัญอย่างราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาพิจารณาว่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งทบทวนตัวเลขสมมติฐานราคาน้ำมันใหม่

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อเข้าสู่ระดับสมดุลยังมีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรับประกันว่า ธปท.มีความตั้งใจและมีความสามารถที่จะดูแลเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปได้ ไม่สูงขึ้นจนกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า และราคาสินค้าในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ซึ่งจะช่วยลดการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% ถือว่าต่ำมาก”

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า ธปท.มองว่าบริโภคและการลงทุนจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ดีในด้านราคาพืชผล ตัวเลขสินเชื่อที่ขยายตัวดี รวมถึงอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำ 0.7% เพราะมีการย้ายแรงงานนอกภาคเกษตรเข้ามาภาคเกษตรมากขึ้น แต่ในส่วนการบริโภคสินค้าคงทนอาจชะลอลงบ้างจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อีกทั้งสินค้าคงทนที่ใช้ในที่อยู่อาศัยอาจได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงจากที่ได้เร่งตัวมากในปี 53

ทั้งนี้ ในเดือนม.ค.แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อยังมีต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นทั้งเกิดจากอุปสงค์ของการคาดการณ์เงินเฟ้อ ต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทำให้ผู้ประกอบการหาแรงงานยากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างและส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนและราคาสินค้าต่อไป ขณะที่ข้อจำกัดในการทำธุรกิจอันดับแรกยังคงเป็นเรื่องการปรับราคาสินค้าที่ทำได้ยาก แต่มองว่าความต้องการในประเทศมีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีอุปสงค์รองรับทันที จึงสามารถปรับราคาสินค้าได้เร็วและแรง

จากการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจล่าสุดเดือนม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั้งจากราคาสินค้าและต้นทุนการผลิต โดยผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามสัดส่วน 31% ประเมินว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อใน 12 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4-6% หรือมีค่าเฉลี่ย 3.6% ขณะที่การคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้ามีค่าเฉลี่ย 5% ทั้งนี้ ในเดือนม.ค.เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.03% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 1.32%

นายเมธี กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางไม่ได้มีผลกระทบไทยมากนัก โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตะวันออกกลางไม่ถึง 5%ของการส่งออกรวม ขณะที่การนำเข้าประมาณ 12% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน ขณะที่นักท่องเที่ยวในตะวันออกกลางมายังไทยมีแค่ 2.8%ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาดังกล่าว

“ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันตลาดโลก แต่ยังไม่กระทบจนมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย และยังสามารถยืนได้ตามกรอบเดิมที่ประมาณการณ์ไว้ที่ระดับ 3-5% แต่มองว่าหากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนอาจมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป”นายเมธีกล่าว

ในเดือน ม.ค. การส่งออกมีมูลค่า 16,523 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 21.4% ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 17,111 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 31.2% ซึ่งในเดือนม.ค.มีการนำเข้าทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,789 ล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่หากไม่นับรวมทองคำมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว 27.6% ทำให้ขาดดุลการค้า 588 ล้านเหรียญ นับเป็นครั้งแรกนับจากเดือนก.ค.53 ซึ่งเกิดจากการขาดดุลการค้าทองคำเช่นกัน ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 1,678 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 985 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น