xs
xsm
sm
md
lg

กคช.ลุยขยายสินเชื่อ 2,240 ล้านบาท ซื้อหนี้เน่าทรัพย์สินถูกธนาคารยึด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
บอร์ด "กนร." มีมติให้ "กคช." ขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิม 780 ล้านบาท เป็น 2,240 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้เน่าทรัพย์สินประชาชนที่ถูกธนาคารยึด เพราะไม่มีตังค์จ่าย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พร้อมอุดหนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมให้ในส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ขายไม่ออกอีกจำนวน 297 ล้านบาท เพื่อหวังพลิกฟื้นองค์กร ให้มีกำไรมากขึ้น

วันนี้ (25 ก.พ.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ( กนร. ) มีมติ ให้การเคหะแห่งชาติ ( กคช.) ดำเนินการซื้อทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกธนาคารยึดเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และให้ขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมจากเดิม 780 ล้านบาท เป็น 2,240 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้ออาคารคืนจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่ผู้ซื้อขาดชำระติดต่อกัน 3 เดือน โดยรัฐรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อคืนแทน กคช.

รวมทั้งการอุดหนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถขายได้ตามจำนวนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง จำนวน 297 ล้านบาท

ทั้งนี้ กนร. ยังอนุมัติให้ กคช.ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นองค์กร แบ่งเป็น 4 แผน ดังนี้คือการบริหารจัดการโครงการที่ขายยากแบบยกโครงการ โดยให้มีการประเมินราคา เร่งก่อสร้างและขาย ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเช่า , ขายที่ดินของกคช.จำนวน 76 โครงการบนเนื้อที่ 4,700 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนาต่อ , เพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม ลดรายจ่ายในองค์กร และพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปี 2554- 2558 โดยแยกบทบาทเชิงสังคม พาณิชย์ ออกจากกัน เพื่อให้ กคช.สามารถมีกำไรได้ตั้งแต่ปี 2556

" กคช.ได้รายงานความเป็นมาของโครงการเอื้ออาทร ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเริ่มประสบภาวะการขาดทุนในปี 2550 และ ปี 2551 เป็นจำนวน 1,264 ล้านบาท และ 1,090 ล้านบาท โดยมีหนี้สินจำนวน 8.7 หมื่นล้านบาท และหนี้เงินกุ้เพื่อชำระหนี้ จำนวน 4.39 หมื่นล้านบาท " นายไตรรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ สคร.ได้เสนอแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหา กรณีของบริษัท ไม้อัดไทย (มอท.) ที่ถือหุ้นโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งมีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ผลประกอบการขาดทุนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2541 และมีหนี้สินค้างชำระอีกกว่า 400 ล้านบาท

จึงเห็นควรให้ มอท.ร่วมทุนกับภาคเอกชน ในสัดส่วน 49 : 51 โดย มอท.จะนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งตราสินค้า “ช้างสามเชือก” ตีมูลค่าเป็นเงินลงทุนและขายให้บริษัทร่วมทุนในวงเงินประมาณ 100-150 ล้านบาท สำหรับที่ดินของที่ตั้งโรงงานจำนวนประมาณ 133 ไร่ จะให้เช่ากำหนดระยะเวลา 30 ปี คิดค่าเช่าเริ่มต้นประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี และปรับเพิ่มทุก 3 ปี

" ที่ประชุมมีมติให้ สคร. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาแก้ไขปัญหาขาดทุนของ มอท. โดยให้จัดทำแนวทางการจัดการสินทรัพย์ หนี้สิน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของ มอท. และให้กลับมานำเสนอในที่ประชุม กนร. ภายใน 3 เดือน " นายไตรรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น