ธปท.เชื่อเวียดนามลดค่าเงินดองรอบล่าสุด ไม่กระทบไทยทั้งในด้านส่งออกและค่าเงินบาท แต่ห่วงโดนกดดันค่าเงิน หลังข้อมูลศก.สหรัฐฯ ออกมาดี ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย ที่เงินทุนบางส่วนไหลกลับไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคนี้อ่อนตัวลง
วันนี้ (12 ก.พ.) นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลดค่าเงินดองของเวียดนาม ว่า รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาเวียดนามได้ทำการลดค่าเงินดอง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมองว่าวัตถุประสงค์ในการลดค่าเงินของเวียดนามในครั้งนี้เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในของเวียดนามเป็นหลัก
"ไม่กังวล เพราะลดมาหลายครั้งแล้ว export ของเราก็ยังไปได้ ในแง่การค้าขายไทยกับเวียดนามมีอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมที่คล้ายๆกันที่ส่งออกไม่มากนัก เพราะการลดค่าเงินดองดังกล่าว อาจจะไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพราะในด้านหนึ่งการที่เงินดองลดค่าลงไป ก็จะทำให้สินค้านำเข้าของเวียดนามสูงขึ้นเช่นกัน" นายเมธี กล่าว
นายเมธี กล่าวอีกว่า เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองลง 8.5% ในวันนี้ เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนของทางการและอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด โดยอัตราอ้างอิงใหม่ อยู่ที่ 20,693 ดองต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 18,932 ด่อง ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.53 การปรับลดค่าเงินดองในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 ในรอบเกือบ 3 ปี โดยช่วงที่ผ่านมา เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่มีความผันผวนสูง รวมถึงยอดขาดดุลการค้าและงบประมาณในระดับสูง ตลอดจนการพุ่งขึ้นของราคาทองในตลาดโลก และความเชื่อมั่นที่ลดลงในสกุลเงินดอง
ด้านนายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการสำนักตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน และบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า การลดค่าเงินดองในครั้งนี้ ยังไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท และเหตุผลหลักในการลดค่าเงินดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศเวียดนาม เงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 30.84/89 ต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงสกุลเงินหลักอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีของสหรัฐ ความกังวลต่อปัญหาหนี้ในยุโรป และการประท้วงในอียิปต์ หนุนให้นักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์มากขึ้น ขณะที่แรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียและเงินทุนบางส่วนที่ไหลกลับไปยังตลาดหุ้นสหรัฐ ก็กดดันให้เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงด้วย
ขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SCB EIC ได้ศึกษาผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015 พบว่าแม้จะยังไม่เห็นภาพแบบเดียวกับสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้ก็ได้จัดทำข้อตกลงเรื่องอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเสร็จสิ้นไปแล้ว อีกทั้งยังมีผลบังคับใช้ไปอีกแล้วด้วย และจากการศึกษาพบว่า AEC จะทำให้ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ โรงแรมและรีสอร์ทต้องแข่งขันกับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจากการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในสัดส่วนได้ถึง 70% ในอนาคต จากปัจจุบันอยู่ที่ 49% และยังอาจส่งผลต่อตลาดแรงงานไทย ซึ่ง AEC จะทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องของเงินเดือน และเป็นไปได้ว่าแรงงานไทยจะย้ายไปที่สิงคโปร์และมาเลเซียที่ให้ผลตอบแทนทางเงินเดือนที่สูงกว่า โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน
สำหรับการปรับตัวของธุรกิจไทยจะต้องทำในสิ่งที่ตนเองมีความชำนาญมากที่สุด จะทำให้เห็นโอกาสของการลงทุนได้ เนื่องจากการผลิตสินค้าจะเป็นแบบรวมศูนย์มากขึ้นนั่นคือ ผู้ประกอบการสามารถไปลงทุนที่ประเทศใดก็ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราภาษี และวัตถุดิบ อีกทั้งการค้าที่จะมีรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เช่นสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น จากการลงทุนแค่ภายในประเทศ เช่น ธุรกิจแต่งงานสามารถดึงดูดลูกค้าจากต่างชาติให้มาจัดงานแต่งงานในประเทศไทยได้มากขึ้น และสุดท้ายจะเกิดกลุ่มชนชั้นใหม่คือกลุ่มคนที่ย้ายออกไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีผลประกอบการดีขึ้น และไม่เกี่ยงเรื่องราคาในการสั่งซื้อสินค้า
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธุรกิจใหญ่ๆ ขณะนี้ก็ปรับตัวไปไกลกว่า AEC นานแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่สำหรับรายเล็กๆ ที่มีความพร้อมต่ำกว่าที่มองการลงทุนแต่ในประเทศก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ สังเกตได้จากสัดส่วนรายได้จากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของไทยถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านยังถือว่าน้อยมาก อีกทั้งภาครัฐยังไม่สนับสนุนเท่าที่ควร ในเรื่องการให้ข้อมูลกับนักธุรกิจ และ AEC จะกระทบมากกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย