xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ เรียนอาชีวะอัตราตกงานต่ำ เผยแนวโน้มแรงงานปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
นักวิชาการ ชี้ เรียนอาชีวะอัตราตกงานต่ำ เผยแนวโน้มแรงงานปี  58 เวียดนาม-ฟิลิปปินส์ ยึดครองตลาดแรงงานระดับกลาง หากไทยไม่ผลิตคนคุณภาพป้อนตลาด สอศ.เล็งยุทธศาสตร์ 5 ด้านปฏิรูปการศึกษา รับมือการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ สสค.เตรียมความพร้อมรับมือประชาคมอาเซียน หนุนอาชีวศึกษาพัฒนานวัตกรรมกรรมการสอน

วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดงานแถลงข่าวประกาศสนับสนุนโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับอาชีวศึกษาครั้งที่ 1/2554 โดยมีวงเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางพัฒนาเด็กพันธุ์อาร์ รองรับตลาดอาเซียน 58”               

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการ สสค.กล่าวว่า  หลายคนมักมองว่าการเรียนอาชีวศึกษาเป็นเหมือนเด็กประเภทสอง มีความรุนแรงแฝง และไม่มีทางไป ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่พ่อแม่ไม่ยอมส่งลูกไปเรียนในสายนี้  แต่ปัจจุบันสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป อีกไม่นานการศึกษาสายอาชีพจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาชาติ เยาวชนไทยที่เข้าสู่สายอาชีพจะเป็นแรงงานไม่เพียงในประเทศเท่านั้น  แต่ยังมีโอกาสในตลาดแรงงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะร่วมกันเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีแก่ทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้ง 5 สาขา ได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน แรงงานมีฝีมือและเงินทุน ในปี พ.ศ.2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า  ในไม่ช้าแรงงานไทยจะมีโอกาสเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพในประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับแรงงานจากประเทศอาเซียนอื่นก็สามารถเข้ามาหางานในประเทศไทย กติกาใหม่นี้ประเทศใดที่แรงงานมีฝีมือสูงกว่าย่อมได้เปรียบ

“โจทย์ที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงได้ยาก ก็คือ แรงงานไทยจะแข่งขันสู้กับแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ในอนาคตคุณภาพแรงงานจึงไม่ใช่เพียงการจบปริญญาแต่ขึ้นอยู่กับการทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และฟิลิปปินส์ จะเข้ามาศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาในไทย และจะเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานบ้านเรา หากไม่เตรียมตัวให้พร้อม ประเทศเพื่อนบ้านก็จะมายึดครองสัดส่วนของตลาดแรงงานในกลุ่มนี้” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

 รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาจึงต้องเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า ต้องจัดหลักสูตรการเรียนรู้ให้ดี อย่ามัวแต่รอจน ม.3 เพราะจะช้าเกินไป สิ่งที่กระทรวงศึกษาต้องพิจารณาร่วมกันต่อ คือ แท่งของ สพฐ.และอาชีวะ ต้องทำงานร่วมกันผ่านระบบแนะแนวตั้งแต่ ป.6 หรือ ม.1 ในการให้ข้อมูลข่าวสาร โดยเข้าใจตลาดแรงงานมากขึ้น เพราะเราสูญเปล่าด้านอุดมศึกษามามาก เรียนจบปริญญาตรีแต่ไม่มีงานทำ ต้องเอาวุฒิอาชีวะไปสมัคร ซึ่งแต่ละปีมีคนจบปริญญาตรี จำนวน 400,000 คน ในจำนวนนี้มีงานทำเพียง 100,000 คน แต่มีคนตกงานถึง 150,000 คน ขณะที่คนจบอาชีวศึกษา ได้งานทำ 90-100% และต่อไปอาจจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมมากขึ้น แบบสหศึกษา

          ดร.สิริรักษ์ รัชชุศานติ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายอาชีวะต้องทำใน 5 เรื่อง คือ 1.การผลิตกำลังคนอาชีวะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 2.การพัฒนาศักยภาพครูทั้งครูในสถานศึกษา ครูในสถานประกอบการ และครูภูมิปัญญาผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น 3.การพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ โดยเทียบเคียงมาตรฐานกับหลักสูตรสากล เพิ่มการเรียนการสอนแบบทวิภาคี และเพิ่มป.ตรีสายปฏิบัติการ 4.การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ให้สอดคล้องกับภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและภาคการบริการ และ 5.กำลังแรงงงานต้องมีสมรรถนะตามาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งในการเตรียมความพร้อมต่อประชาคมอาเซียนนั้น ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรโดยเชื่อมกับมาตรฐานอาชีพในสถานประกอบการ ซึ่งต้องเทียบเคียงกับมาตรฐานของประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลและการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงความต้องการแรงงาน เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะมีส่วนในการพัฒนาอาชีวศึกษาร่วมกัน    

          ดร.วีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาอาชีวศึกษา เพื่อสอดรับกับแนวโน้มการแข่งขันตลาดอาชีวศึกษาโลกของภาคเอกชน มีอยู่ 3 แนวทางหลัก คือ 1.สร้างให้ประเทศไทยเป็นฮับการศึกษาของอาชีวะเอกชน ซึ่งมีการรวมตัวกันของสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน 66 สถาบันทั่วประเทศ 2.พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะด้านภาษา โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบสื่อการเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลีให้กับอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อให้โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน 2558 และ 3.ดำเนินการก่อตั้ง “สมาคมอาชีวศึกษาเอกชนอาเซียน” เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างประเทศ ทำให้กลุ่มประชาคมได้มีโอกาสทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

          “แรงงานไทยปัญหาอย่างเดียว คือ เรื่องภาษาที่เราสู้แรงงานสิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่ได้ แม้ว่าเราจะมีฝีมือเป็นเลิศ หรือเทคโนโลยีที่ดีกว่า ฉะนั้นต้องอุดช่องโหว่เรื่องภาษาให้ได้ เพราะต่อไปแรงงานเหล่านี้จะเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราไม่มีทางแปลงความคิดความอ่านให้เป็นจริงได้ ถ้าไม่มีเด็กอาชีวะเหล่านี้ อาชีวะจึงเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวจริง” ดร.วีรวัฒน์ กล่าว

          นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล คณะกรรมการ สสค.กล่าวว่า  สถานอาชีวศึกษาทุกแห่งของไทยมีโอกาสผลิตแรงงานอาชีวะที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานไทยรวมถึงตลาดแรงงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการฝึกฝนเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพและความสามารถ สสค. จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนอาชีวศึกษาเพื่อรองรับโอกาสและการแข่งขันในตลาดแรงงาน จึงเปิดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนระดับอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนใน 3 ด้าน คือ 1.สนับสนุนนวัตกรรมการเรียนการสอน 2.การยกระดับคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านสุขภาวะ และ 3.การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและสร้างคุณค่าวิชาชีพอาชีวศึกษา  โดยแบ่งเป็นประเภทโครงการเดี่ยว งบประมาณ ไม่เกิน 200,000 บาท และประเภทโครงการกลุ่มจากหลากหลายสถานศึกษา งบประมาณ 200,000-700,000 บาท ประกาศรับสมัครจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น