ตั้งแต่ 23 ก.ค.53-5 ม.ค.54 ต่างชาติเข้ามาลงทุนบอนด์ 1.04 แสนล้านบาท โกยกำไรตลาดหุ้นไป 10% ฟันค่าเงินบาทแข็งค่าช่วงนั้นอีก 4% รวมผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 14% โดยส่วนใหญ่ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น
วันนี้ (29 ม.ค.) นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส กล่าวถึงการขายหุ้นทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ 23 ก.ค.53-5 ม.ค. 54 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1.04 แสนล้านบาท โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 950 จุด เมื่อดัชนีปรับขึ้นมาถึง 1,055 จุด ทำให้ต่างชาติมีกำไรจากตลาดหุ้น 10% รวมกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนั้นประมาณ 4% ซึ่งรวมผลตอบแทนแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 14%นักลงทุนระยะสั้นจึงทยอยขายหุ้นทำกำไรออกมาก่อน โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูง
สำหรับช่วงที่เหลือในไตรมาสแรกนี้ตลาดหุ้นยังมีความกังวลต่อแรงขายสุทธิของต่างชาติต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงดัชนีปรับตัวลง(downside risk) มาที่อัตรากำไรต่อราคาปิดต่อหุ้น (P/E) ที่ 12-13 เท่า โดยคาดว่าดัชนีจะมีการปรับตัวในกรอบจำกัดที่ 930-950 จุดขณะเดียวกันมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นมาที่แนวต้านบริเวณจุดสูงสุดเดิมที่ดัชนี 1,030-1,055 จุด โดยมีปัจจัยบวกจากผลประกอบการปี'53 และจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติที่ขายตลาดหุ้น แต่มีแรงซื้อเข้าตลาดตราสารหนี้ โดยข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่าเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิ 1.18 แสนล้านบาท และมียอดคงค้าง 3.6 แสนล้านบาท โดยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 7-14 วัน สูงถึง 2.7 แสนล้านบาท และระยะยาว 1 ปีขึ้นไป เพียง 9.1 หมื่นล้านบาท อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นขยับขึ้นมาอีก 0.05% และระยะยาวขยับขึ้นมาอีก 0.075%
ด้าน นางสาวอริยา ติรณประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ต่างชาติยังซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องแต่มีปริมาณซื้อลดลง ซึ่งเป็นแรงซื้อจากกองทุนโกลบอล บอนด์ ฟันด์ ที่ให้น้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ในเอเชีย โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อบริหารความเสี่ยงในภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น จึงมีโอกาสที่จะเห็นการขายออกรวดเร็วเช่นกัน แต่หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง คาดว่า จะกระจายไปสู่ตราสารหนี้อายุที่ยาวขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีมีแรงขายต่างชาติออกมา ทำให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.06 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลง 2.7% มาอยู่ 30.98 บาท/ดอลลาร์