ผู้ถือหุ้น "บิ๊กซี" ไฟเขียวกู้เงิน 3.8 หมื่นล้าน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อซื้อหุ้น "คาร์ฟูร์" เคาะ ดบ.เบื้องต้น 4.5% ฟุ้งดันรายได้แตะ 1.1 แสนล้านใน 5 ปี พร้อมให้เวลา 6 เดือนเพื่อลบชื่อเดิมทิ้ง ลั่นไม่ปิดสาขาซ้ำซ้อน มั่นใจเพิ่มฐานลูกค้าได้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับ A ถึง C
การประชุมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 (วานนี้) ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท เซ็นคาร์ จำกัด มูลค่า 35,450 ล้านบาท จากบริษัท คาร์ฟูร์ เนเดอร์แลนด์ บีวี และบริษัท มิลดิว บีวี ด้วยคะแนนเสียง 732 ล้านหุ้น คิดเป็น 97% ของจำนวนหุ้นเข้าร่วมประชุม 751 ล้านหุ้น หรือ 100% และผู้ถือหุ้นยังอนุมัติการขอวงเงินกู้ 3.8 หมื่นล้านบาท รองรับการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ วงเงิน 3.54 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ลงทุนขยายสาขาที่จำเป็นเพิ่มเติม
น.ส.รำภา คำหอมรื่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และรองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน BIGC ได้ชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นว่า ปัจจุบันบิ๊กซีมีรายได้จำนวน 7 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมคาร์ฟูร์เข้ามาจะทำให้ทั้งปีเพิ่มเป็น 1.1 แสนล้านบาท หรือโตมากกว่าระดับปัจจุบัน 40% และในปีแรกของการรวมคาร์ฟูร์เข้ามา จะทำให้อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นของบิ๊กซีโตจากระดับปกติอีก 5% และจะเพิ่มเป็น 20% ในปีที่ 3 ของการรวมกิจการ เพราะการจะสร้างประโยชน์เพิ่ม (synergy) นั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีจึงจะเห็นผลเต็มที่
นอกจากนี้ การรวมคาร์ฟูร์เข้ามาจะทำให้ฐานลูกค้าของบิ๊กซีครอบคลุมตั้งแต่ระดับ A ถึง C เพราะปัจจุบันฐานลูกค้าของบิ๊กซีจะเป็นกลุ่ม C มีสาขาอยู่ในรอบปริมณฑล ต่างจากคาร์ฟูร์มีสาขาอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ และฐานลูกค้ามีอำนาจซื้อสูงระดับ A ถึง B เมื่อรวมกันจะเอื้อต่อการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้
สำหรับแหล่งเงินในการซื้อหุ้นจะมาจากการกู้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 4.5% หรืออาจจะต่ำกว่า และเชื่อว่าจะสามารถคืนเงินได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากบริษัทมีความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุน
ส่วนสาขาที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างบิ๊กซีและคาร์ฟูร์จะไม่มีการปิดสาขาซ้ำซ้อน เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน โดยบริษัทจะใช้เวลาในการเปลี่ยนป้ายมาเป็นบิ๊กซี 6-12 เดือนนับจากนี้