xs
xsm
sm
md
lg

คลังสวมบทเจ้าหนี้ ปปช.บังคับคดี 4.6 หมื่นล. จับตา "นช.แม้ว" พลิกเกมสู้ศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังได้ข้อสรุปเบื้องต้นยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน "คกก.แพ่ง" แจกงาน ทีม 1 กรมบัญชีกลาง เดินหน้ายึดเงินคืน ทีม 2 สคร.เอาผิดทางแพ่ง ADVANC แก้ไขสัญญาสัมปทาน โยงเทมาเส็ก ทีม 3 สรรพากร ตามเงินโกงภาษี "โอ๊ค-เอม" โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ต้องกลับไปดูข้อ กม. ความเสียหายต่อรัฐ โดยให้ยึดเกณฑ์คำตัดสินของศาล ยันขั้นตอนทำงานยังต้องรอ "นช.แม้ว" ยื่นอุทธรณ์แก้เก้อ หวังยื้อเวลาอีก 30 วัน แจงสถานะล่าสุด คลังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วน ป.ป.ช.เป็นเจ้าหน้าที่บังคับคดี

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง เพื่อวางแนวทางพิจารณาผลเสียหายของรัฐ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วงเงินกว่า 46,000 ล้านบาท โดยระบุว่า จากการหารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณีการวางแนวทางเพื่อพิจารณาผลความเสียหายของหน่วยงานภาครัฐ ได้มอบหมายงานไว้ 3 ด้าน คือ 1.ให้กรมบัญชีกลาง ดำเนินการตามคำพิพากษา 2.ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ศึกษาคำพิพากษา และตรวจสอบดูว่ามีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการ และ 3.มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี

"ทั้ง 3 หน่วยงานต้องไปอ่านคำพิพากษาแล้วดูว่า จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามคำพิพากษาอย่างไร มีเรื่องที่เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดอย่างไร เรื่องนี้กรมบัญชีกลางจะดำเนินการ ส่วนที่เกี่ยวกับ สคร.นั้น จะต้องศึกษาจากคำพิพากษาว่ามีส่วนใดเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจบ้าง จากนั้นจะมาพิจารณาว่ามีส่วนใดต้องดำเนินการ"

สำหรับรายละเอียดในด้านที่ 1 ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ดำเนินการยึดทรัพย์ตามคำพิพากษา รวมถึงดำเนินการตรวจสอบฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ด้านที่ 2 มอบหมายให้ สคร.ไปศึกษาคำพิพากษา โดยเบื้องต้นว่ามีรัฐวิสาหกิจไหนที่ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยเสนอเรื่องรายงานขึ้นมาให้กระทรวงการคลังรับทราบเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับการเปลี่ยนมือเจ้าของหุ้นจากตระกูลชินวัตร ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC/เอไอเอส มาเป็นของบริษัทเทมาเส็ก นั้น ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดทางแพ่งดังกล่าวนั้น คงต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอมาก่อน เรื่องดังกล่าว สคร.จะเป็นพิจารณาในประเด็นความเสียหายที่เกิดจากการแปลงสัญญาสัมปทาน ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอไอเอส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ก่อนเสนอรัฐมนตรีคลังต่อไป

ส่วนด้านที่ 3 เรื่องการเก็บภาษีของนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท รวมค่าปรับและดอกเบี้ย ทางกรมสรรพากรรับผิดชอบดำเนินการต่อ โดยการยึดทรัพย์ของทั้ง 2 คนเพิ่มเติม เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรที่ดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ร่วมกันของ 3 หน่วยงาน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายแตกต่างกัน เช่น กรมบัญชีกลาง มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด กรมสรรพากร ดูแลประมวลกฎหมายรัษฎากร และ สคร.มีกฎหมายที่ว่าด้วยการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมจะดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิด โดยขอศึกษาคำพิพากษาของศาลให้ชัดเจนก่อนว่ามีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องหรือได้รับความเสียหาย

"หัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ จะทำการสอบสวนเบื้องต้น มีเวลา 60 วัน หลังจากสอบสวนเสร็จแล้วจะส่งกลับมายังคณะกรรมการของกรมบัญชีกลางที่พิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เราจะชี้ขาดว่าความเสียหายที่เป็นข้อเท็จจริงนั้น เป็นเท่าไร และจะเรียกร้องต่อไป"

นายพงษ์ภาณุ กล่าวถึงกระบวนการนำเงินที่ได้จากการอายัดทรัพย์นำส่งเข้าเงินคงคลังว่า จะต้องรอความชัดเจนต่อกระบวนการยื่นอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะมีขึ้นภายใน 30 วันหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้วก่อน ซึ่งหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หรือศาลไม่รับอุทธรณ์ ทางกรมบัญชีกลางจะได้ประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาแนวทางเรื่องการโอนเงินที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมาเข้าเป็นเงินคงคลังต่อไป

“ต้องรอให้ครบ 30 วันที่จะอุทธรณ์ หลังจากกระบวนการอุทธรณ์เสร็จแล้ว จึงค่อยนำส่งเข้าคลัง ตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ คือ ป.ป.ช. ความชัดเจนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกรมบัญชีกลางได้ประสานงานกับ ป.ป.ช.แล้วในนโยบายการยึดทรัพย์ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะโอนเงินฝากที่อยู่ในบัญชีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมาไว้ในคลังอย่างไร เพราะกระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้ในคดีนี้ ส่วนป.ป.ช.เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี" นายพงษ์ภาณุ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น