xs
xsm
sm
md
lg

หนุนใช้ 4.6 หมื่นล.กระตุ้น ศก.ไม่ต้องกู้ โอ๊คเอม-เอสซีฯ ผิดแยกกระทง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมบัญชีกลาง เปิดโอกาส "ทักษิณ" มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ 4.6 หมื่นล้าน แต่หากครบกำหนด 30 วัน ยังไม่มีข้อมูลใหม่มาหักล้าง พร้อมยึดเงินทั้งหมดเข้าคลังหลวง เพื่อนำไปจัดงบลงทุนกระตุ้น ศก. โดยไม่ต้องกู้ พร้อมแจงสินทรัพย์ต้องแยกเป็น 3 ส่วน โดยเงินสดให้แบงก์ส่งเข้าคลังเป็นรายได้ ที่ดินให้กรมธนารักษ์นำไปเป็นที่ดินราชพัสดุ ส่วนหุ้นโอนให้ สนง.คณะกรรมการรัฐวิสาหกินดูแล "สมชาย" แนะคัดแยกบัญชีเงินฝาก เพื่อดูว่าจะยึดส่วนใด ฝากไว้กับแบงก์ใดบ้าง ย้ำ! คลังต้องคัดแยกให้ดีระหว่างเงินที่ต้องใช้ในคดีของ "สรรพากร" กรณีโกงภาษีหุ้น "โอ๊ค-เอม" จำนวน 3 หมื่นล้าน และอายัดหุ้น "เอสซี แอสเสท" จำนวน 1 พันล้าน เพื่อแยกแหล่งเงินให้ชัดเจน ต้องชดเชยในคดีที่ต่างกัน หนุนให้เอาผิดทั้งแพ่งและอาญา

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาตัดสินไปแล้ว คงต้องรอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นอุทธรณ์ที่สามารถทำได้ภายใน 30 วัน แต่หากพ้นกำหนดเวลาไม่มีข้อมูลใหม่จะเปลี่ยนคำพิพากษาเป็นอื่นได้ หรือไม่มีการยื่นอุทธรณ์ กระทรวงการคลังสามารถรับเงินมาเป็นรายได้ของแผ่นดินได้ทันที

ทั้งนี้ การยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท จะทำให้รัฐบาลกู้เงินเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง และจะทำให้การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน ในปีงบประมาณ 2553 เพิ่มขึ้น แต่จะมีการหารือกันอีกครั้งว่า เงินที่ได้มาจะนำไปตั้งจัดงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม หรืออาจนำไปจัดตั้งเป็นงบประมาณปีหน้าต่อไป

สำหรับทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น ในส่วนของเงินสดจะแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัญชีนำเงินส่งพร้อมดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินคงคลัง และบันทึกเป็นรายได้งบประมาณ ส่วนที่เป็นที่ดิน จะส่งให้กรมธนารักษ์รับไปบริหารเป็นราชพัสดุ หรือหากสมควรอาจจะขายเพื่อนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้ ส่วนที่เป็นหุ้นจะมีการจัดการโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักเศรษศาสตร์อาวุโส กล่าวแสดงความเห็นการจัดการวงเงินยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่า ขั้นตอนจากนี้ไป กระทรวงการคลังจะต้องทำการคัดแยกบัญชี ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้ตัดสินว่า ต้องทำการยึดทรัพย์ในส่วนใดบ้าง ฝากไว้กับธนาคารใดบ้าง

จากที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้อายัดไว้กับธนาคารต่างๆ จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ได้ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 39,634 ล้านบาท ,ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 18,156 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 15,748 ล้านบาท, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 2,125 ล้านบาท, ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) 1,476 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 500 ล้านบาท, ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 492 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังต้องคัดแยกให้ดีระหว่างเงินที่ต้องใช้ในคดีของกรมสรรพากร ได้สั่งอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากของ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร จำนวน 36,000 ล้านบาท และอายัดหุ้นเอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) มูลค่าอีก 1,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแยกแหล่งเงินให้ชัดเจน เพราะต้องชดเชยในคดีที่ต่างกัน

สำหรับเงินที่ต้องยึดส่งเข้าคลัง จะถูกส่งนำไปใช้ตามระบบวิธีงบประมาณ ดังนั้นจึงไปอยู่ในบัญชีรายได้อื่น ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลอาจลดยอดการกู้เงินน้อยลง เพราะการลงทุนก่อสร้างหลายโครงการต้องกู้เงินมาใช้ในการก่อสร้าง

“หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินออกมาแล้ว 5 กรณี อาจต้องมีการฟ้องร้อง ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพิ่มเติมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกระทำความผิด เพราะเรื่องคงไม่จบลงเพียงตรงนี้ เนื่องจากมีความผิดเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น