xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนซื้อฝูงบินใหม่ "บินไทย" เคาะเฟสแรก 15 ลำ 3.5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.ทีจี เปิดแผนซื้อฝูงบินใหม่ 2 เฟส 45 ลำ บอร์ด "ทีจี" เคาะเฟสแรก 15 ลำ วันนี้ วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้าน โดยจัดซื้อเอง 7 ลำ และเช่าอีก 8 ลำ ส่วนเฟส 2 จำนวน 30 ลำ พร้อมไฟเขียว "ดีดี" คุมเม็ดเงิน Hedging ราคาน้ำมัน

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ วันนี้ โดยระบุว่า บอร์ดได้มีมติเห็นชอบการจัดหาเครื่องบินเฟสแรก ในปี 2553-2557 ระยะเวลา 5 ปี โดยจัดหาเครื่องบินจำนวน 15 ลำ วงเงินลงทุนรวม 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับรายละเอียดแผนดังกล่าว เป็นการจัดหาเครื่องบินภูมิภาค ขนาดความจุประมาณ 300 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ โดยวิธีเช่าทางการเงิน (Financial Lease) วงเงินลงทุนประมาณ 31,259 ล้านบาท และ การจัดหาเครื่องบินข้ามทวีป ขนาดความจุประมาณ 350 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ โดยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เป็นระยะเวลา 10-15 ปี คาดว่าใช้วงเงินผูกพัน 7-8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ให้จัดหาอะไหล่เครื่องยนต์ จำนวน 2 เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินภูมิภาค ในวงเงินประมาณ 922 ล้านบาท และการจัดหาเครื่องยนต์อะไหล่ 3 เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินข้ามทวีป วงเงินลงทุนประมาณ 3,303 ล้านบาท ส่วนโครงการจัดหาเครื่องบินในช่วงปี 2559-2563 ในเฟส 2 จะจัดหาเครื่องบินมากกว่า 30 ลำขึ้นไป

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนปลดระวางเครื่องบินประมาณ 70 ลำ โดยเฟสแรกเมื่อจัดหาเครื่องบินได้ 15 ลำ การบินไทยจะปลดระวางเครื่องบิน 25 ลำ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีฝูงบินทั้งหมด 88 ลำ อายุเฉลี่ยประมาณ 11 ปี ส่วนเฟส 2 จัดเครื่องบินอีก 30 ลำ และปลดระวาง 45 ลำ ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2563 บริษัทจะมีฝูงบินทั้งหมด 102 ลำ เฉลี่ยอายุ 7-8 ปี

"ที่เราตัดสินใจหาเครื่องบินในเฟสแรก โดยใช้วิธีการเช่า 8 ลำ และซื้อเอง 7 ลำ โดยใช้เงินลงทุน 3.0-3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจะทำให้ D/E อยู่ที่ 2 ต่อ 1 เพราะบอร์ดไม่ต้องการให้แบกภาระเรื่องต้นทุนการเงินมาก แม้ว่า การเช่าเครื่องบินจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการซื้อ แต่ฐานะการเงินขณะนี้ เราพอจะซื้อได้ตามที่เรามี EBIDA ซึ่งขณะนี้ แผนเพิ่มทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง"

นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติอนุมัติการปรับปรุงนโยบายการจัดทำการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน ซึ่งบริษัทจะต้องจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยวางกรอบให้ไม่ต่ำกว่า 20% และไม่เกิน 80% ของปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อเดือน เพื่อลดความผันผวนของต้นทุนด้านน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ หรือคิดเป็น 30% ของต้นทุนทั้งหมด และเพื่อให้ผลประกอบการของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลและรับผิดชอบการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) โดยมีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) เป็นประธาน

"บอร์ดให้หลักการไว้ให้ Hedging น้ำมันได้ถึง 80% และไม่ต่ำกว่า 20% จากเดิมที่เคยวางกรอบไว้ 50% เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ให้แคบลง เพราะเห็นว่าในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เราทำ Hedging ได้ 20% ทำให้เราได้กำไร"

พร้อมกันนั้น ในวันนี้คณะกรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้ง นายประวิช รัตนเพียร เป็นกรรมการ แทนนายวัลลภ พุกกะณะสุต ที่ลาออกไป โดยนายประวิช จะเป็นกรรมการบริหารและกรรมการประเมินผลดีดี ด้วย มีผลตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้ทบทวนเส้นทางการบินในประเทศ 2 เส้นทาง จากก่อนหน้านี้ที่ได้โอนให้ สายการบินนกแอร์ เข้าทำการบินแทน แต่หลังจากทบทวนแล้วมอบหมาย THAI กลับมาบินเส้นทาง อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 2 เที่ยวบิน ใช้วิธีการ Code sharing กับสายการบินนกแอร์ ซึ่งต้องติดตามผลต่อไป

ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และ กรุงเทพฯ -แม่ฮ่องสอน ยืนยันให้สายการบินนกแอร์ทำการบินแทน แต่จะมีการติดตามผลการบินของสายการบินนกแอร์ว่าสามารถทำการบินได้ตามมาตรฐานของ THAI หรือไม่ หรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าโดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น