xs
xsm
sm
md
lg

ออกบอนด์แสนล.อายุ6ปีดอกเบี้ย4%คลังเน้น"คนแก่"ออมเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเตรียมเข็นพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตใหม่ 7 หมื่น-1 แสนล้านบาท อายุ 6 ปี เล็งจ่ายดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่างวดก่อน 4 % รองรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและรีไฟแนนซท์ตั๋วพีเอ็น เน้นคนชราที่พึ่งพารายได้จากการออม ดีเดย์เดือนเมษายนรับวันผู้สูงอายุ

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.กำลังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ครั้งที่ 2 กำหนดวงเงินเบื้องต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เป้าหมายสนองความต้องการของผู้ออมเงินกระจายในทุกกลุ่ม เนื่องจากการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งครั้งที่ 1 ไม่เพียงพอความต้องการและยังไม่ถึงมือกลุ่มองค์กร มูลนิธิ สมาคม

พันธบัตรรอบนี้ จะมีอายุ 6 ปี แตกต่างจากครั้งแรกที่มีอายุ 5 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันหรือไม่ต่ำกว่า 4% กำหนดออกมาจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้

"ขณะนี้ดอกเบี้ยปรับลดลงไปบ้างทำให้ต้องดึงดอกเบี้ยขึ้นมาให้เท่าหรือใกล้เคียงกับพันธบัตรรุ่นก่อน ด้วยการออกเป็นพันธบัตรที่มีอายุยาวกว่าอาจจะเป็นรุ่น 6 ปี เพื่อไม่ให้กระจุกตัวในรุ่นอายุใดรุ่นหนึ่งมากเกินไป เช่น อายุ 5 ปีที่ออกไปก่อนหน้านี้และเป็นการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดพันธบัตรด้วย อีกทั้งเพื่อเป็นการจูงใจและให้ผลตอบแทนกลุ่มที่ต้องพึ่งพารายได้จากเงินออม เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งพันบัตรรุ่นใหม่นี้จะเน้นขายให้ผู้เกษียณอายุหรือคนชราก่อนในวันแรก โดยตั้งใจจะขายใกล้ช่วงวันผู้สูงอายุในเดือนเมษายนพอดี" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรดังกล่าวส่วนหนึ่งเตรียมไว้รองรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและงบไทยเข้มแข็งที่น่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากยังไม่มีการเบิกจ่ายเข้ามามากก็จะนำไปรีไฟแนนซท์ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นหรือตั๋วพีเอ็นประมาณ 5 หมื่นล้านบาทก่อน

นายจักรกฤศฏิ์ยอมรับว่าการเบิกจ่ายเงินของงบไทยเข้มแข็งนั้นยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยในช่วงเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เดือนละ 2 หมื่นล้านบาทหรือยังล่าช้าไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าระยะต่อไปจะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายมากขึ้น ทำให้ช่วงนี้กระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องเร่งกู้เเงินมากองไว้ให้มีภาระดอกเบี้ย

ส่วนการกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณว่าในระยะ 3 ปีนี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อกระตุ้นการลงทุน เพราะในแต่ละปีงบประจำจะเพิ่มขึ้น 3-4 % ทำให้งบลงทุนจะลดลงเรื่อยๆ แต่การขาดดุลมากน้อยเพียงใดขึ้นกับรายได้ที่จัดเก็บจริง เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศ เช่นปีงบ 2554 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17% ของจีดีพีประมาณ 9 ล้านล้านบาท

"หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3-5% ก็จะดันให้จีดีพีขึ้นไปถึง 10 ล้านล้านบาทการจัดเก็บรายได้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การส่งออกปีนี้หรือปีหน้าอาจจะดีกว่าที่คาด และทำให้เศรษฐกิจกลับไปขยายตัวได้ 8-10% เหมือนในอดีต แต่หากไม่เป็นไปตามที่มองไว้ก็คงต้องมาทบทวนตัวเลขอีกครั้งว่างบประมาณจะสมดุลได้ในปีใด" ผอ.สบน.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น