xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจขุนคลังโลก ปี 53 รัฐยังเป็นพระเอกกระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
สัมภาษณ์ฺพิเศษ

ฮือฮาโด่งดังระดับโลกเมื่อ นิตยสาร Banker ในเครือ Financial Times มอบรางวัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลกแห่งปี 2010 ควบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชียแห่งปี 2010 ให้กับ "กรณ์ จาติกวณิช ถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ASTVผู้จัดการรายวัน ได้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวพร้อมเปิดใจนโยบายปี 53

"รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้กรณ์รู้สึกยินดีแต่ลึกๆ แล้วคิดว่ารางวัลนี้มาเร็วเกินไปอยากจะวัดผลงานดูอีกสักครั้งในปีนี้ถ้าหากสามารถเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และได้รับการคัดเลือกอีกครั้งได้ก็ยินดีที่จะรับรางวัลนี้อย่างภาคภูมิใจ" ขุนคลังกล่าว

"กรณ์" บอกตลอดปี 52 ต้องยอมรับว่ารมว.คลังทุกประเทศต่างเหนื่อยกันมามากเป็นปีที่มีการประชุมร่วมกันบ่อยมากทุกภูมิภาคทั่วโลกและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาล้วนอยู่ในรูปแบบที่คล้ายกันคือเป็นยาแรงและเร็ว แต่ที่โดดเด่นและเข้าตากรรมการซึ่งเป็นเครือข่ายของนิตยสารBanker ทั่วโลกเห็นและตัดสินใจมอบรางวัลนี้ให้ คืออุปสรรคต่างๆ ของไทย ทั้งการออกกฎหมายที่มีข้อจำกัดจากระบบรัฐสภา โครงสร้างรัฐบาลผสม รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตลอดทั้งปีแต่รัฐบาลก็สามารถเดินหน้ามาตรการต่างๆ ได้จริง

นอกจากนี้ยังมีความโชคดีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนทำให้มีบทบาทที่โดดเด่น โอกาสในการแสดงฝีมือมากขึ้นในฐานะผู้นำภูมิภาคบนเวทีโลกซึ่งอาเซียนเป็นที่ถูกจับตาจากทั่วโลกในขณะนี้

แต่ที่ลืมไม่ได้และต้องยกให้เป็นพระเอกทั้ง 4 ที่ช่วยตีตื้นและฝ่าฟันวิกฤตปีที่แล้วมาได้คือ 1.ภาคการส่งออกมีความแข็งแกร่งมาก 2.ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ 3.นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และ4.เป็นส่วนสำคัญที่ต้องยกให้คือแบงก์รัฐที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบและมีบทบาทที่สำคัญรองรับนโยบายรัฐบาล

รางวัลที่ได้ในครั้งนี้ถือเป็นแรงกระตุ้นให้ทำงานหนักขึ้นในปีนี้เพื่อพิสูจน์ฝีมือการทำหน้าที่ขุนคลังโลกโดยจะเน้นการดูแลภาคประชาชนในการให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันตามยุทธศาสตร์ฝนตกทั่วฟ้า โดยเฉพาะการทำให้โครงสร้างภาษีมีความยุติธรรม เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ หลังจากที่จัดทำรายละเอียดและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาหลายแล้วครั้ง

โดยในหลักการจะยกเว้นภาษีให้กลุ่มประชาชนที่มีทรัพย์สินน้อยซึ่งที่คิดไว้คือมูลค่าทรัพย์สินทั้งบ้านและที่ดินรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาทอาจจะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนถึง 90% ไม่ต้องมีภาระภาษีดังกล่าว และยกเว้นให้กลุ่มเกษตรกรที่ถือครองที่ดินในระดับปานกลาง โดยการยกเว้นดังกล่าวทำให้รัฐเสียรายได้ไปเพียง 10% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการนำเงินรายได้จากภาษีที่ดินฯประมาณ 1-2% มาเป็นเงินทุนจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อรองรับการซื้อที่ดินที่ผู้ถือครองต้องการขายออกมาเพราะไม่อยากเสียภาษี โดยจะนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในราคาถูก เพื่อให้ต่อไปมีการนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึงมองว่านโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นผลบวกกับรัฐบาลและไม่กระทบฐานเสียงเพียงแต่ต้องชี้แจงประชาชนได้

ขณะเดียวกันจะเดินหน้าผลักดันตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ(กอช.) ที่เสนอเข้าครม.ไปแล้วขณะนี้อยู่ในชั้นของกฤษฎีกา จากนั้นจะเร่งนำเข้าสภาต่อไป คาดว่าเร็วสุดน่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ซึ่งกอช.จะเป็นกองทุนสำหรับแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 25 ล้านคน เช่น เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซด์ คนขับแท็กซี่ คาดว่ารัฐจะใช้เงินจ่ายสมทบประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่ถือเป็นการรองรับสวัสดิการของประชาชนกลุ่มนี้ในระยะยาว

นอกจากนั้นยังต้องดูแลให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นหลังจากที่เดินหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบที่มีผู้มาลงทะเบียนแล้วทะลุ 1 ล้านรายตามที่คาดไว้และจะปิดรับลงทะเบียนในเดือนมกราคมนี้ โดยระหว่างนี้กำลังกลั่นกรองข้อมูลเพื่อเริ่มเจรจาหนี้สินกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งมีประมาณ 2 แสนราย โดยน่าจะทำให้การโอนหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบของกลุ่มนี้ทำได้เร็วและถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมากจากที่เคยเสียดอกเบี้ยเดือนละ 20-30% มาจ่ายเพียง 1% หากเทียบกับมูลหนี้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อรายก็น่าจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท จะมีส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายค่อนข้างมาก

สำหรับการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินนั้นตามแผนแม่บทการเงินที่หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งไมโครไฟแนนซ์เพื่อช่วยประชาชน 15% ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน โดยจะเร่งศึกษาโครงสร้างที่มีอยู่เดิมทั้ง สัจจออมทรัพย์หรือกองทุนต่างๆ หรือเปิดช่องให้เจ้าหนี้นอกระบบตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาเป็นไมโครไฟแนนซ์ โดยอาจมีเอเย่นต์ไปเก็บเงินกู้แทนแต่ต้องทำตามกติกา เช่นเก็บดอกเบี้ยไม่เกินกว่าเพดานที่กำหนด

กรณ์ พูดถึงการดูแลภาคธุรกิจว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังจะเน้นถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ เพราะหากต้นทุนของเอกชนไทยสูงกว่าต่างชาติ 1-2% ก็ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นที่มาของการออกแผนพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น นอกจากนั้นจะยึดแนวทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือในรูปแบบ พีพีพี เพราะที่ผ่านมาการให้สัมปทานกับเอกชนทำใหรัฐเสียประโยชน์ เช่น ได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าความเป็นจริง หรือไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาค่าบริการต่างๆได้ โดยจะเริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าก่อน เพราะรัฐลงทุนเยอะมากประมาณ 90% ต่อไปจะให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเดินรถ รวมทั้งจัดซื้อรถโดยรัฐจะให้ผลตอบแนแน่นอน ขณะที่รัฐจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสาร เอกชนจึงไม่ต้องห่วงว่าจะขาดทุนหรือกำไรจากการใช้บริการของประชาชน

"สาเหตุที่รัฐต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบประมาณลงทุนมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่งบรายจ่ายประจำและส่วนที่เป็นภาระในระยะ 5-10 ปีมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆเช่น เบี้ยยังชีพคนชรา โดยปีงบ 54 ที่กำลังจัดทำก็จะมีงลงทุนไม่ถึง 20% ส่วนปี 53 ที่ถึง 20% เพราะรวมเงินนอกงบเช่นเงินกู้ตามพ.ร.ก. 4 แสนล้านบาท แต่จากแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลให้การกู้ยืมชดเชยขาดดุลลดลงและในปีหน้ารัฐบาลจะลดการใช้เงินนอกงบและหันมาใช้เงินที่มาจากรายได้มากขึ้นแทน หมายความว่าขนาดของเม็ดเงินที่จะลงทุนไม่เปลี่ยนแต่ที่มาของเงินจะเปลี่ยน เช่น อาจกู้เงินน้อยลงไม่ถึง 8 แสนล้านบาทตามที่พ.ร.ก.และพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังไว้ ขณะที่ประเด็นท้าทายอยู่ที่ความพร้อมของโครงการมกากว่าอยู่ที่การหาเงินจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนบางโครงการที่ไม่มีความพร้อม"

สำหรับโครงสร้างภาษีนั้นต้องพิจารณาทั้งระบบให้เป็นแพ็กเกจเดียวกัน ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลเพิ่ม โดยยอมรับว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับ 30% นั้นสูงกว่าประเทศคู่แข่งแต่การเสียจริงอาจจะอยู่ 20% เพราะมีการให้สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนได้มาก แต่จุดยืนที่เคยประกาศไว้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงมาได้แต่ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา เช่นเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็อาจปรับลดลงมา ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดิมอยู่ 10% ในหลักการก็ควรจะเท่ากับที่เคยจัดเก็บเดิม อย่างไรก็ตามมองว่าเงื่อนไขทางภาษีไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลหรือเป็นตัวขวางการลงทุนของเอกชน แต่น่าจะมาจากองค์ประกอบอื่นๆที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกำลังแก้ไข

สุดท้ายต้องคอยลุ้นกันว่าขุนคลังโลกประจำปีนี้จะสามารถพิสูจน์ฝีมือตามที่เจ้าตัวตั้งโจทย์ท้าทายตัวเองไว้ได้หรือไม่ โดยจากที่ประเมินแล้วรัฐบาลยังจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปจนความเชื่อมั่นของเอกชนกลับมาเต็มร้อยก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ เพราะหากรัฐบาลแตะเบรกการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น