xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ย 0-0.25% ถึงกลางปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ย 0-0.25% ถึงกลางปี 53 เพื่อดูแลเสถียรภาพ ศก.ที่ยังเปราะบาง ขณะที่ภาวะตลาดแรงงาน และกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยคาดว่า สหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลามากกว่านี้ กว่าที่ภาวะ ศก.จะฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) รอบสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 0.00-0.25% และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย ขณะที่เฟดน่าจะทยอยลดบทบาทของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยไม่มีการต่ออายุโครงการรับซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ จากกำหนดเวลาที่จะทยอยสิ้นสุดภายในไตรมาส 1 ปี 2553

เฟดน่าจะยังคงส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกระยะ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควบคุมการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อของตลาดให้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและไม่บั่นทอนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของจีดีพี เครื่องชี้การใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น ยอดค้าปลีก และตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่การฟื้นตัวของเครื่องชี้เหล่านั้นได้รับแรงหนุนที่สำคัญมาจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากและต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ

ขณะที่ภาวะตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะอ่อนแอและยังต้องใช้เวลามากกว่านี้กว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อาจขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดใกล้ 11% ภายในครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับ 10% ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขณะที่ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลักฐานที่ต้องรอการยืนยันในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ กำลังมีแนวโน้มที่จะทยอยลดบทบาทลงในระยะถัดไป ส่วนฐานะดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของสหรัฐอาจจะเป็นข้อจำกัดทางการคลังสำหรับการใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบเดิม น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเฟดก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะจากฝั่งอุปสงค์ที่ยังมีค่อนข้างจำกัด และหากจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำเป็นพิเศษในปัจจุบันไปสู่ระดับที่ผ่อนคลายน้อยลงหรือเป็นปกติมากขึ้นก็น่าที่จะเกิดขึ้นเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากพอต่อการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นอย่างเร็ว

อนึ่ง จากมุมมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ระดับต่ำต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าว ทำให้คาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯอาจยังมีแนวโน้มน่าดึงดูดน้อยลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อาจจะมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดสิ้นสุดอายุลงก็ตาม

เมื่อผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในดูไบ คงจะส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อรักษาสมดุลเสถียรภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและค่าเงินบาท ทางการและภาคธุรกิจเอกชนของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายนี้นอกเหนือไปจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างประเด็นการเมืองและความไม่ชัดเจนของการลงทุนในบางสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น