xs
xsm
sm
md
lg

การฟื้นคืนชีพอีกครั้ง....ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นโดยส่งผลกระทบไปทั่วโลก และประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่แพ้สหรัฐอเมริกาที่เป็นจุดกำเนิด ก็คงจะหนีไม่พ้น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคงมีนักลงทุนหลายคนสงสัยและไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่าจะเป็นอย่างไร....?ฟื้นตัวแล้วจริงหรือ....อีกทั้งทิศทางและแนวโน้มเป็นอย่างไรหลังจากนี้.... ซึ่งหลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้นักลงทุนหลายคนคงอยากรู้คำตอบ...

**อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล** CFA ผู้อำนวยการสายงานจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)เอสซีบี ควอนท์ จำกัด เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแนวโน้มและการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นเองจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย จีดีพี ติดลบอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกต่างมีมาตราการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น จนทำให้หลายประเทศได้มีการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

**ญี่ปุ่น** เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มหนีห่างจากภาวะถดถอยแล้ว โดยเป็นการฟื้นตัวตามประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน ซึ่งเมื่อลองสังเกตุดูการฟื้นตัวของญี่ปุ่นในอดีตแล้วนั้น หลายคนคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้จะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตามแบบฉบับของตัวเองไม่ค่อยหวือหวาเหมือนเช่นประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ ถึงแม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการฟื้นตัวตามประเทศต่างๆ จากตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพี และผลประกอบการของบริษัทต่างๆที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง **แต่สำหรับในมุมมองการลงทุน ความน่าสนใจในการลงทุนนั้น ญี่ปุ่นถือเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่ประเด็นที่สำคัญในการลงทุนก็คงเหมือนๆกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะยังมีความเสี่ยงเหมือนกันทั่วโลก** ซึ่งตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นจากผลประกอบการและตัวเลขต่างๆที่ประกาศออกมานั้นดีเกินกว่าที่คาดหมายกันเอาไว้ อีกทั้งขณะนี้ ยังไม่มีปัจจัยบวกใดเข้ามาสนันสนุนการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น จนอาจจะทำให้ตลาดหุ้นมีการปรับฐานลงไปบ้าง จากเหตุนี้จึงถือเป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและไม่ใช่เฉพาะแต่ญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้น แต่จะส่งผลไปยังประเทศต่างทั่วโลกเช่นกัน

นอกจากนี้ **การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพราะหากตลาดหุ้นมีการปรับฐานจะส่งผลให้ค่าเงินดอลล์มีการแข็งค่าขึ้น จะทำให้ญี่ปุ่นมีกำไรจากภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น และจะทำให้ราคาหุ้นบางตัวมีการปรับฐานน้อยลง และอาจจะปรับฐานเป็นบวกได้**

นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น เราอยากแนะนำให้นักลงทุนยืดระยะเวลาการลงทุนออกไปอีกสักระยะ ถึงแม้ว่าหลายๆฝ่ายจะออกมายืนยันถึงภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ดีขึ้นก็ตาม เนื่องจากว่าตลาดหุ้นของญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มมีการปรับฐานลง และคาดว่าจะปรับฐานต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อรอให้ราคาหุ้นนิ่งก่อนจึงค่อยเข้าซื้อ ซึ่งเรามองว่าจะเป็นช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งการปรับฐานลงของตลาดหุ้นทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ สำหรับแนวโน้มหลังจากนี้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น เราคาดว่าจะมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอีกไม่ช้านี้อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ เราจะต้องมองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆประกอบการตัดสินใจด้วยและไม่เฉพาะแต่ประเทศญี่ปุ่นแต่จะรวมไปถึงการลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย

ด้าน**สถาบันวิจัยนครหลวง**ได้มีมุมมองเกี่ยวกับ การฟื้นตัวของยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นว่า มีปัจจัยบวกในระยะสั้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางญี่ปุ่น โดยสถานการณ์การฟื้นตัวต่อเนื่องของระดับยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญจากการปรับฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนของยอดขายในหมวดยานยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับปัจจัยบวกโดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลกลางญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือและสนับสนุนในยอดขายของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่องค์ประกอบในด้านอื่น อย่างเช่น ระดับการใช้จ่ายในหมวดของอาหารและเครื่องดื่ม การใช้จ่ายในสินค้าเบ็ดเตล็ด หมวดเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ยังคงถือได้ว่าต่างยังคงเป็นการทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

**ดังนั้นแล้ว ส่งผลให้ภาพรวมของระดับยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น จึงยังคงค่อนข้างที่จะขาดเสถียรภาพในการปรับฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของยอดค้าปลีกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นการพึ่งพิงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล** ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในหลายๆด้านยังคงต้องถือว่ามีความอ่อนแออยู่สูง โดยเฉพาะในด้านของปัญหาอัตราการว่างงาน ส่งผลทำให้โดยรวมทิศทางการฟื้นตัวของยอดค้าปลีก ภายหลังจากหมดช่วงมาตรการต่างๆ จึงยังคงถือได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำได้อย่างต่อเนื่อง

**การหดตัวลงต่อเนื่องของระดับยอดค้าส่ง บ่งชี้ว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่น ยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นมากนัก **โดยมองว่าทิศทางของการหดตัวลงในระดับสูงต่อเนื่องของระดับยอดค้าส่งของญี่ปุ่น มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นเอง ที่ยังคงขาดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ** จึงส่งผลให้มีการลดการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากมาสต๊อก เนื่องจากมีความกังวลในด้านของสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงการขยายตัวของระดับการใช้จ่ายของประชาชน ที่ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แต่อย่างไรก็ดี SCRI มองว่า ในช่วงถัดจากนี้ไป ในด้านของยอดค้าส่งยังคงมีโอกาสในการปรับขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี อันเนื่องจากการที่ระดับยอดค้าส่งในช่วงปีก่อนหน้า ที่ได้มีการหดตัวลงในอัตราเร่งตั้งแต่ในช่วง Q4/52 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพโดยรวม มีโอกาสสูงที่ทิศทางของระดับยอดค้าส่งของญี่ปุ่นจะเริ่มมีการขยายตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วง Q4/52
กำลังโหลดความคิดเห็น