xs
xsm
sm
md
lg

บล.กสิกรฯหวังรายได้IBแตะ250ล.เหตุดีลควบรวม-ไอพีโอในมืออื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.กสิไทย ตั้งเป้าปั๊มรายได้ด้านวาณิชธนกิจในปีหน้า 250 ล้านบาท จากงานM&Aที่อยู่ในมือแน่นอน 8 ดีล มูลค่ารวม 5 หมื่นบาท และไอพีโอเข้าตลาดหุ้นอีก 4 ดีล ดีลละ1,000 ล้าน ที่อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอก.ล.ต.ในปี53 ผู้บริหารพอใจผลงานปี52สร้างรายได้ตามเป้า 190 ล้าน แม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

นายวรวัจน์ สุวคนธ์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ (IB) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS เปิดเผยถึงงานในด้านวาณิชธนกิจว่า ในปีนี้ว่า บริษัทสามารถปิดดีลได้ทั้งหมด 5 ดีล โดยเป็นดีลในหลายกลุ่มธุรกิจอันได้แก่ ประกัน อีเลคโทรนิคส์ ลีสซิ่ง การเกษตร และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

โดยงาน M&A ใหญ่ที่สุดของปี ได้แก่ ดีลที่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ซื้อหุ้นเพิ่มใน บจ. เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ. เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งมีมูลค่าการควบรวมกว่า 7,500 ล้านบาท ทำให้ KBANK มีสัดส่วนการลงทุนใน บจ. เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 51 เพื่อตอบโจทย์การเป็นยูนิเวิลด์แซล แบงก์กิ้ง หรือ ธนาคารครบวงจร

ส่วนเป้ารายได้ด้านธุรกิจIB ในปีหน้า บล.กสิกรไทย ตั้งเป้าไว้ที่ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ที่รายได้ IB เป็นไปตามเป้าหมายที่ 190 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนดีล M&A และ IPO มีขนาดใหญ่ขึ้นและจำนวนมากขึ้น แม้จะไม่ตรงตามเป้าที่ธนาคารกสิกรไทย วางไว้ให้ 300 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ

"แม้รายได้ IB ปีนี้ไม่ได้มากตามที่บริษัทแม่ตั้งไว้ให้ที่ 300 ล้านบาท แต่การที่ทำได้ 190 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อีกทั้งตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีให้เห็นมากขึ้น โดยปี53 บริษัทยังให้ความสำคัญกับงาน M&A เพราะการที่เรามีจุดแข็งในเรื่องไฟแนนซ์ ที่สามารถเดินควบคู่ไปกับแบงก์แม่ได้”

สำหรับ ในปีนี้ พบสัดส่วนรายได้ด้าน IB ของบล.กสิกรไทยคิดเป็น 25% ของรายได้รวมทั้งหมด อีกทั้ง ขณะนี้บริษัทมีดีล M&A ที่แน่นอนแล้วจำนวน 8 ดีล มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ฯ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4 ดีล ได้ ธุรกิจ Health care 2 ราย, ธนาคาร 1 ราย, ประกันภัย 1 ราย, อุตสาหกรรมการเกษตร 1 ราย, พลังงาน 2 ราย และ ไอที 1 ราย

ส่วนดีลการเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2553 บริษัทคาดว่า จะมีการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ประมาณ 4 ดีล ประกอบด้วย บริษัทในธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ น้ำตาล และวัสุดก่อสร้าง หรือด้านโครงสร้างอีก 2 ดีล มูลค่าระดมทุนรายละประมาณ 1,000ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทในประเทศที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ และ เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่มีธุรกิจแบบครอบครัวหรือกึ่งครอบครัว เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการบริหาร

“ในปี 2553 เรามองว่าการแข่งขันของธุรกิจที่ปรึกษา M&A ยังมีอยู่สูง เนื่องจากมีบริษัทใหม่ๆที่เกิดขึ้นและสามารถทำธุรกรรมได้ แต่อยู่ที่ว่าใครจะมีจุดเด่นและสามารถปรับตัวได้เร็วกว่ากัน โดยในส่วนเรา มีธนาคารกสิกรไทยช่วยเหลือในแง่ของลูกค้าเช่นกัน”

ทั้งนี้ ในดีลการซื้อหุ้น บจ. เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ของKBANK นั้น บล.กสิกรไทย ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการเงินของธนาคาร โดยให้คำแนะนำ ทั้งในเรื่อง โครงสร้างการทำรายการ การประเมินมูลค่ากิจการ การปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเจรจาสัญญากับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นของ บจ. เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ด้วย

ขณะที่ ผลงานด้าน M&A ที่โดดเด่นอีกงานของบริษัทในปี 2552 คือ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท เอ็มเอฟจี โซลูชั่น จำกัด ในการเข้าซื้อหุ้น บมจ. เอสวีไอ จาก H&Q Asia Pacific ในสัดส่วน 62.94% มูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,228 ล้านบาท โดยนับเป็นดีล Management Buyout แรกของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ไทย โดย บล. กสิกรไทย ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท เอ็มเอฟจี โซลูชั่น จำกัด เพื่อเข้าซื้อหุ้นเอสวีไอ ซึ่งดีลนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของกลุ่มธนาคารกสิกรไทยในการเป็นกลุ่ม Universal bank ชั้นนำของเมืองไทย ขณะเดียวกัน ดีลดังกล่าว เป็นงานที่โปร่งใส ยุติธรรม และมีความเป็นธรรมาภิบาล โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นรายย่อย และเป็นข้อตกลงที่พอใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหุ้น แม้จะอยู่ในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น