xs
xsm
sm
md
lg

กกร.แนะฉีก HIA เร่งสยบ ม.67 กู้ 2 ยักษ์ติดหล่มมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.หอการค้าฯ เผยมติ กกร.เสนอรัฐวางหลักเกณฑ์ HIA เพื่อหาทางออก "มาบตาพุด" แก้ยาแรง ม.67 วรรค 2 ชี้การจัดทำร่าง HIA ปีกว่าๆ นานเกินไป แนะเร่งให้ร่นระยะเวลาจัดทำเหลือแค่ 4-5 เดือน บิ๊ก ส.อ.ท.เสนอให้มีเจ้าภาพเพียงรายเดียว ขณะที่สมาคมแบงก์ มั่นใจสินเชื่อไม่มีปัญหาเอ็นพีแอล เพราะโครงการส่วนใหญ่เป็นของ 2 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยระบุว่า ที่ประชุม กกร.วันนี้ มีมติให้นำเสนอข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดและรัฐบาล เพื่อเร่งออกหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาคเอกชนในการดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง

พร้อมกันนั้น ภาครัฐควรเร่งรัดการทำงานด้านต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว โดยเฉพาะขั้นตอนในการจัดทำ HIA เพราะภาคเอกชนมองว่าหากต้องใช่เวลาถึง 14-15 เดือนจะนานเกินไป ควรจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในเวลา 4-5 เดือน เพื่อลดกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดจากการลงทุนมีความล่าช้า

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องขอให้รัฐพิจารณาให้การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่าง HIA ต่อยอดจากของเดิมที่ภาคเอกชนดำเนินการอยู่ไปได้เลย ไม่ต้องมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ เพราะทิศทางที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ก็ทำมาอย่างถูกต้องแล้ว

ด้านนายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลพิจารณาหาหน่วยงานหลักเพื่อเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้เพียงหน่วยงานเดียว เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเกิดความรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชน เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติจับตาในเรื่องนี้อยู่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบันการเงินต่างๆ ได้กลับไปดูแลลูกค้าที่มีโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างใกล้ชิด แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะโครงการส่วนใหญ่เป็นของ 2 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการชำระเงิน เพระขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอเลื่อนชำระเงินออกไป

นายอภิศักดิ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวอีกว่า สำหรับ KTB เองมีเอกชนที่มีโครงการลงทุนในมาบตาพุดขอวงเงินสินเชื่อไว้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยเบิกจ่ายไปแล้วราว 2.9 พันล้านบาทถือว่าน้อยมาก และการที่โครงการลงทุนหยุดชะงักไป ก็คงไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะการเบิกใช้วงเงินจะพิจารณาตามความคืบหน้าของงาน

นอกจากนี้ โครงการที่ปล่อยกู้ไปเป็นของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งโครงการที่ถูกระงับก็เป็นส่วนต่อขยายหรือส่วนเพิ่ม หากยังดำเนินการไม่ได้ในขณะนี้ก็ยังไม่น่าจะมีปัญหามาก เพราะโครงการหลักยังดำเนินการอยู่ ดังนั้น ธนาคารก็คงจะยังไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น