xs
xsm
sm
md
lg

NGOs โวยเหตุแก๊สรั่วที่แหลมฉบัง...พร้อมจะยื่นศาลให้ระงับชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมฯแหลมฉบังหลังเกิดเหตุปล่อยสารพิษ พร้อมยื่นศาลระงับชั่วคราวหากพบไม่ปฏิบัติตามอีไอเอ และเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า เหตุการณ์สารพิษรั่วไหลในพื้นที่นิคมฯแหลมฉบัง สะท้อนจิตใต้สำนึกความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการและสภาอุตสาหกรรมต่างหดหัวไม่กล้าออกมาแสดงความรับผิดชอบ ผิดกับกรณีศาลปกครองระงับโครงการมาบตาพุดราวฟ้ากับดิน

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า กรณีมีเหตุการรั่วไหลของแก๊สพิษอันตรายที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อเย็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มักเกิดขึ้นประจำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และมาบตาพุด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการขาดมาตรฐานของการบริหารจัดการของนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทผู้รับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านี้พยายามที่จะออกมาโฆษณาชวนเชื่อเสมอ ว่า พื้นที่ของตนมีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานและเป็นสากล

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่แหลมฉบังทำให้คนงาน ชาวบ้านต้องหามส่งโรงพยาบาลกันมากกว่า 19 คน พร้อมกับมีผู้เสียชีวิตอีกด้วย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านมากมาย รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ไม่สามารถค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ เป็นเหตุแห่งเสียหายที่มากกว่าจะประเมินค่าเป็นทรัพย์สินได้ แต่ไม่เห็นมีผู้บริหารของบริษัทที่เป็นต้นเหตุของปัญหาออกมาแสดงความรับผิดชอบ

“รวมทั้งผู้บริหารของรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ปิดปากสนิท ไม่เห็นออกมาแสดงความเห็น หรือความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นกับมวลสมาชิกของตน ไม่รู้หายหัวหรือหัวหดอยู่ที่ไหน”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นผิดกับกรณีศาลปกครองกลางสั่งระงับการดำเนินกิจกรรม 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด ที่ต่างก็ออกมาแสดงโวหารถึงความห่วงใยของกลุ่มอุตสาหกรรมตนอย่างออกหน้าออกตา เหตุเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกของความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ยึดถือเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้งหรือยึดถือเอาประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้งกันแน่

“สมาคมจะหันมาตรวจสอบว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ศรีราชา และแหลมฉบัง มีโรงงานหรือโครงการใดบ้างที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และมีโรงงานไหนบ้างที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง หากพบว่ามีจะต้องยื่นขออำนาจศาลในการสั่งให้โรงงานเหล่านี้ยุติการประกอบการไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าจะปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง และกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบที่ชัดเจนต่อชุมชนโดยรอบที่ต้องมารองรับความเสี่ยงที่ตนไม่ได้เป็นผู้ก่อ ว่า จะมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น