xs
xsm
sm
md
lg

คลังหนุนตั้งกองทุนทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังหนุนตั้งกองทุนสาธารณูปโภคผุดทางด่วนบางซื่อ – ตลิ่งชัน ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงสายบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระบุผลตอบแทนเฉลี่ย 5-8% ลูกค้าสถาบันจ่อคิวจองเพียบ สั่งศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หวั่นแย่งลูกค้ากันเอง

นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับแนวทางการก่อสร้างกองทุนรวมสาธารณูปโภค (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ-ตลิ่งชันภายใต้ชื่อโครงการทางด่วนศรีรัตน์ มูลค่าโครงการ 29,000 ล้านบาท

โดยโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายนี้จะก่อสร้างไปตามแนวรางรถไฟสายใต้เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน จึงได้ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปศึกษาว่าจะมีการแย่งลูกค้ากันกับรถไฟฟ้าด้วยหรือไม่ แต่ในรูปแบบการระดมทุนต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทางพิเศษสายนี้เป็นการสร้างตามแนวเขตพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จึงใช้เงินลงทุนในโครงการไม่มากเนื่องจากไม่ต้องเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมากยกเวนแนวทางขึ้นลงเท่านั้น

“ถ้าหากสามารถก่อสร้างได้ตามแผนก็ถือเป็นโครงการนำร่องที่ดีในการจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค ทำให้รัฐบาลประหยัดต้นทุนก่อสร้างลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการดึงเงินออมในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุนเองก็ได้ผลตอบแทนที่ดีเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5-8% ต่อปี โดยนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยต่างให้ความสนใจกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก” นายกุลิศกล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำหรับการก่อสร้างอาจจะทยอยสร้างไปที่ละเฟสประมาณ 10%ที่เหลืออาจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบเเทนที่ดีโดยต้องเสนอวิธีการดังกล่าวให้กับกระทรวงการคลังก่อนว่าจะเลือกวิธีไหน ทั้งนี้หากมีการตั้งกองทุนเสร็จสิ้นคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างโครงการทางด่วนศรีรัตน์ ประมาณ 4 ปี

สำหรับโครงการทางพิเศษศรีรัตน์มีการประมาณการในเบื้องต้น ว่าจะมีรถยนต์ใช้ประมาณ 8 หมื่นคันต่อวัน ซึ่งทางด่วนดังกล่าวจะคู่ขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปบ้างแล้ว ในเบื้องต้นได้กำหนดขนาดกองทุนไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ทั้งในโครงการที่มีรายได้แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน ยังอนุญาตให้สามารถแบ่งหน่วยลงทุนเป็นหลายประเภทได้พร้อมเปิดทางให้กู้ยืมได้ยืดหยุ่นกว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในส่วนนี้ ยังต้องศึกษารูปแบบกองทุนชัดเจน ก่อนจะออกเป็นประกาศต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น