xs
xsm
sm
md
lg

แสน ล.ฟื้นฟูรถไฟคลังพร้อมอัดเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” ยอมรับการรถไฟมีปัญหามาก ระบุการฟื้นฟูครั้งใหญ่ จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพและการบริการที่ดีขึ้น ด้าน สคร.หวั่นจัดซื้อหัวรถจักรเพิ่มทำงบไทยเข้มแข็งบานปลาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ” เป็นครั้งที่ 44 ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นเทปบันทึกภาพที่ นายอภิสิทธิ์บันทึกไว้ในระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยกล่าวถึงมติของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) ในเรื่องของการปรับปรุงการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ว่า ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพนักงาน ฝ่ายบริหาร และที่สำคัญคือ ปัญหาความปลอดภัย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลามีการหยุดให้บริการ ซึ่งตนได้เคยบอกกับพี่น้องประชาชนว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้รถไฟกลับมาบริการตามปกติแล้ว

“ แนวทางที่ครม.เศรษฐกิจได้วางไว้ก็ชัดเจนแล้ว คือการลงทุนที่สำคัญจะต้องเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การลงทุนซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมด มีการสำรวจตรวจสอบตั้งแต่เรื่องของทาง ระบบราง อาณัติสัญญาณ ไปจนถึงหัวรถจักร สรุปมาเรียบร้อยว่าขณะนี้อุปกรณ์โครงสร้าง พื้นฐานที่มีอยู่มีส่วนไหนบ้างที่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากปฏิบัติการไทยเข้มแข็งไปแล้ว ในส่วนที่เหลือ ก็มีการรวบรวมเป็นตัวเลขขึ้นมา ”

ลงทุนระบบรางคู่เชื่อมเพื่อนบ้าน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 การปรับปรุงหรือการขยายบริการที่สำคัญ โดยต้องให้การรถไฟมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งในการขนส่งทั้งสินค้าและประชาชน แต่ปัจจุบันการรถไฟมีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง นั้นก็คือ ความเร็วที่รถไฟจะวิ่งอยู่ประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยเหตุผลในเรื่องของอุปกรณ์ ด้วยเหตุผลในเรื่องของราง และด้วยเหตุผลที่มีระบบรางเดี่ยว ทำให้มีการเสียเวลาในเรื่องของการสับหลีก ซึ่งครม.เศรษฐกิจได้ตั้งเป้าว่า นอกเหนือจากการรวบรวมตัวเลขลงทุนในเรื่องของการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว เป้าในความสามารถของการวิ่งควรอยู่ที่ประมาณ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหมายถึงนอกจากการปรับปรุงรางหรือเส้นทางเดิม ก็จะมีการลงทุนในเรื่องของระบบรางคู่

“มีหลายเส้นทางที่สำคัญหลายแห่งที่จะทำให้รถไฟเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ทางอีสาน เส้นทางที่ออกไปจากบัวใหญ่ ก็จะไปทางมุกดาหาร และไปถึงนครพนม เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับทางลาวและเวียดนามต่อไป หรือเส้นทางตอนเหนือที่จะต้องไปเชื่อมโยงกับจีน จากเด่นชัยไปเชียงรายและไปที่ชายแดน ก็จะเป็นเส้นทางลงทุนที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการบริการของการรถไฟ”

ดึงเอกชนร่วมลงทุน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในประเด็นของการลงทุนวงเงิน 1 แสนล้านบาท บางส่วนที่รถไฟลงทุนจะอยู่ในกรอบของงบไทยเข้มแข็ง และบางโครงการอาจจะดึงภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งครอบคลุมไปถึงอีกโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะได้มีการศึกษาความเหมาะสมความเป็นไปได้ของเส้นทางและการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม" นายกฯ กล่าว

“ นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางที่ตอนนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือรถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งจากกรุงเทพฯออกไปยังภาคตะวันออก ก็ไปจังหวัดระยอง จันทบุรี และอาจจะไปถึงตราด ซึ่งทั้งหมดนี้ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบในหลักการ และจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป”

คลังหนุนแผนฟื้นรถไฟ พร้อมดึงงบ 4 แสน ล.อุด

นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวถึงกรณีที่ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแนวทางการพัฒนาการรถไฟฯ ที่ให้ตั้ง 3 หน่วยธุรกิจ และ 1 บริษัทลูกว่า ถือเป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูรถไฟของสคร.ก่อนหน้านี้

ส่วนแผนการใช้เงิน 1 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นวงเงินเดิมที่จัดสรรไว้ในงบตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งระยะ 3 ปีอยู่แล้ว ทั้งการจัดซื้อหัวรถจักร บูรณะระบบรางและแก้ปัญหาจุดตัด

แต่ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดซื้อหัวรถจักรนั้นจากเดิมกำหนดไว้เพียง 14 คันเท่านั้น แต่ตามแผนของกระทรวงคมนาคมต้องการซื้อเพิ่มหัวรถจักรอีกจำนวน 63 คันรวมเป็น 77 คัน ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้น คงต้องรอให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการจัดซื้อหัวรถจักรอย่างละเอียดเสนอครม.เศรษฐกิจอีกครั้งเพื่อดูว่ามีความจำเป็นต้องใช้งบเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด

ยังมีส่วนของการลงทุนที่เพิ่มเข้ามาจากการลงทุนในเส้นทางใหม่ที่ครม.เศรษฐกิจมอบหมายให้ศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน คือ บัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย รวมทั้งการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย ส่วนของการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นได้จัดสรรงบไว้ในแสนล้านบาทแรกแล้ว

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนารถไฟระยะ 5 ปีของกระทรวงคมนาคมนั้น มีส่วนที่แตกต่างกันตรงการยกเลิกจัดตั้งบริษัทลูก ที่เป็นบริษัทเดินรถและบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยให้เป็นเพียงหน่วยธุรกิจหนึ่งของรถไฟแทน เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสหภาพและเหลือเพียงการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์เท่านั้น ซึ่งการรถไฟฯ ต้องทำรายละเอียดแผนบริหารจัดการเสนอมาอีกครั้ง โดยร.ฟ.ท.อาจจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาเดินรถหรือใช้เจ้าหน้าที่ของรถไฟเอง โดยหลังจากนี้สคร.ทำหน้าที่เพียงติดตามเพื่อให้ดำเนินการไปตามแผนที่คมนาคมเสนอมา

ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวถึงการจัดหาเงินกู้ให้ร.ฟ.ท.ว่า สบน.คงต้องพิจาณารายละเอียดของโครงการใช้เงินอีกครั้งว่ามีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนเท่าใด เพราะส่วนหนึ่งน่าจะจัดสรรวงเงินไว้ให้แล้วในงบไทยเข้มแข็ง โดยหากมีส่วนที่ต้องใช้เงินเพิ่มก็สามารถใส่โครงการใช้เงินในงบไทยเข้มแข็งส่วนที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทจากพ.ร.บ.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินได้ เนื่องจากมองว่า การใช้เงินของรถไฟคงไม่ได้เริ่มในทันทีพร้อมกันหลายโครงการ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโครงการด้วย

อาจค้ำเงินกู้ทีโอทีลุย 3 จี

ส่วนกรณีที่บมจ.ทีโอที ระบุว่าการติดตั้งโครงข่าย 3 จี ทั่วประเทศ ซึ่งจะใช้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยมาจากเงินกู้ประมาณ 80% นั้นก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้บรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้ปี 2552 อยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามมติครม.ที่อนุมัติให้ค้ำประกันเงินกู้ โดยการใช้เงินนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของทีโอทีเอง ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนไปมาและไม่พร้อมดำเนินการเอง หากทีโอทีจะใช้เงินกระทรวงการคลังก็พร้อมจะค้ำประกันเงินกู้ให้อยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น